ตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เห็นแต่รถตู้ผู้บริหาร (Executive MPV) วิ่งกันขวักไขว้เต็มท้องถนนกันไปหมด สาเหตุที่รถตู้ผู้บริหารได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ก็เพราะตอบทุกโจทย์การใช้งาน โดยเฉพาะคนไทยที่อาจจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ ต้องการพื้นที่กว้าง นั่งสบาย มีวัฒนธรรมนั่งหลัง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหาร นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ไม่นิยมขับเอง ต้องการรถที่ให้ความสะดวกสบายสูงสุดกับผู้โดยสารตอนหลัง โดยเฉพาะเบาะนั่งแถวสอง ซึ่งมีระบบปรับไฟฟ้า นวด เป่าร้อน เป่าเย็น วางเท้าได้สะดวก เหมาะมากสำหรับเดินทางไกล พาครอบครัวเดินเที่ยวต่างจังหวัด รับแขก เอาใจคู่ค้าทางธุรกิจ คันเดียวจบ แถมยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ ดูภูมิฐาน หรูหรา สื่อถึงความมั่นคงและสะท้อนสถานะทางสังคม ซึ่งมีผลต่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจด้วย

ทีมงาน Carzanova สำรวจความนิยมรถตู้ผู้บริหารซึ่งมีวอลลุ่มต่อปีมากถึง 1 หมื่นคัน มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งเดิมรถกลุ่มนี้จะมีเพียง Toyota ไม่ว่าจะ Alphard หรือ Vellfire รวมไปถึง Majesty หรือถ้าขยับไปฝั่งเกาหลีก็มี Hyundai Staria ทางยุโรปก็มี Volkswagen และ Mercedes-Benz แต่ระยะหลังได้มีรถจีนเข้ามาสร้างสีสันจำนวนมาก อาทิ เจ้าแรกที่มาทำตลาดรถกลุ่มนี้อย่าง MG Maxus 9, XPeng X9, Zeekr 009 รวมไปถึง Denza D9 จาก BYDฯลฯ โดยพิจารณาหลากหลายปัจจัย ทั้งความหรูหรา ประหยัด สมรรถนะ รวมถึงราคาและความคุ้มค่า ต่อไปนี้คือบทสรุปที่น่าสนใจ


เริ่มจากค่ายญี่ปุ่น Toyota Alphard / Vellfire Hybrid เป็นรถนำเข้า CBU โมเดลปี 2025 จะมี Alphard 2.5 HEV E‑Four ระดับราคา 4 ล้านบาทนิดๆ Vellfire 2.5 HEV E‑Four ราคาใกล้เคียงกัน และถ้าเป็น Alphard 2.5 HEV Luxury E‑Four (Executive Lounge) ราคาจะกระโดดไปถึง 4.5-4.6 ล้านบาท

จุดเด่นของค่ายนี้คือระบบขับเคลื่อน 4 ล้อพร้อมระบบ Safety Sense ครบครัน เบาะผู้โดยสารหลังปรับได้แบบผู้บริหาร มีระบบนวด, ปรับอัตโนมัติ, มีที่รองน่อง และพับนอนได้อย่างหรูหรา แต่ด้วยกระแสรถตู้จากจีนบุกตลาดอย่างหนัก ช่วงหลังก็มีผู้นำอิสระเข้าบางรายก็ดั้นด้นไปหา Alphard / Vellfire แบบ 8 ที่นั่ง ซึ่งตัดออปชั่นออกหลายอย่าง ตั้งแต่พวงมาลัยไฟฟ้า, ฮีตเตอร์, ฝาปิดท้ายไฟฟ้า, เบาะที่นั่ง แถว 2 เป็นแถวยาวนั่ง 3 คน และทุกที่นั่งเป็นกำมะหยี่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังตัดซันรูฟ มูมรูฟ ออก และไม่มีอุปกรณ์ โตโยต้า ทีคอนเน็กต์ ขายราคาไม่ถึง 3 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า

ส่วนพวกติดแกรมต้องขยับขึ้นไปหา Lexus LM 300h ที่ราคาเริ่มต้น 6 ล้านกว่าบาท เน้นความหรูขั้นสูงสุด ตอบโจทย์ผู้บริหารระดับสูงได้แน่นอน

หันมาดูที่กลุ่มรถเกาหลี เริ่มจาก Hyundai Staria บ้านเราจะเน้นรุ่นดีเซล 2.2 ลิตร ราคาเริ่มต้น 1.6 ล้านบาท ไปจนถึง 2 ล้านกว่าบาท ได้อุปกรณ์พื้นฐานครบถ้วน สำหรับครอบครัวขนาดใหญ่ หรือใช้บริการรับส่งองค์กร เน้นเทคโนโลยีความปลอดภัยครบชุด ข้อเสียคือมีเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล

มาถึงค่ายจีนเริ่มที่ MG Maxus 9 EV ระดับราคาเริ่มในรุ่น X Luxury 2.49 ล้านบาท ส่วน V Super Luxury 2.69 ล้าน บาท จุดเด่น เป็น MPV 7 ที่นั่งไฟฟ้าเต็มรูปแบบ วิ่งได้ไกล 540 กม. ต่อชาร์จ แถมเครื่องชาร์จที่บ้าน และที่สำคัญคือการรับประกันแบบ Life Time Warranty แต่ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยราคาค่าตัวที่สูงระดับนี้ ตอนแรกที่ยังไม่มีคู่แข่ง ก็น่าสนใจอยู่ ที่ช่วงหลังคู่แข่งมาน่าสนใจกว่าเยอะ คิดว่าถ้า MG จะสู้ในตลาดนี้ ซึ่งส่วนตัวแอดฯ คิดว่าควรจะสู้ เพราะถึงเป็นตลาดที่มีคนให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทางออกคือต้องมีการปรับโฉม เติมออปชั่น และที่สำคัญ ต้องวางราคาใหม่ ให้สามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดกลุ่มนี้

มาที่ Denza D9 แบรนด์หรูจาก BYD วางราคารุ่น Premium FWD ไม่ถึง 2 ล้านบาท ส่วน Performance AWD 2.69 ล้านบาท โดยรุ่น Premium มอเตอร์เดี่ยว วิ่งได้ไกล 600 กม. NEDC อัตราเร่ว 0–100 กม./ชม 9.5 วินาที ขณะที่ Performance (AWD) มอเตอร์คู่ วิ่งได้ 580 กม., 0–100 กม./ชม. ใน 6.9 วินาที และที่สำคัญในรุ่น Performance ยังได้ช่วงล่างถุงลมด้วย ด้านภายในหรูหรา เบาะ 7 ที่นั่งโฉม Nappa Leather แบบ Captain Seats แถวสอง ปรับ 10 ทิศทาง มีระบบอุ่น-เย็น-นวด Ambient light 128 สี จอหลัง 15.6″, ลำโพง DYNAUDIO 14 ตัว, ตู้เย็น, ระบบกรอง PM2.5, ช่วงล่างอัจฉริยะ DiSus‑C และชุด ADAS กว่า 18 รายการ รับประกันตัวรถและแบตฯ 8 ปี หรือ 160,000 กม. ฟรีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน

XPeng X9 รถยนต์ MPV ไฟฟ้าหรูเทคโนโลยี AI ระดับราคาตัวท็อป 2.7 ล้านบาท จุดเด่นสถาปัตยกรรม 800 V ชาร์จเร็ว 330 kW เบาะ Zero‑Gravity มีให้เลือกทั้งแบบมอเตอร์เดี่ยวและมอเตอร์คู่ โดยรุ่นมอเตอร์เดี่ยว ทำราคาลงมาที่ 2.39 ล้านบาท ให้กำลังสูงสุด 320 แรงม้า และอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 7.7 วินาที รุ่นมอเตอร์คู่เพิ่มกำลังรวมเป็น 503 แรงม้า และอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 5.7 วินาที

ข้ามฝากมาฝั่งยุโรป เริ่มกันด้วย Mercedes-Benz V-Class ซึ่งมีจุดเด่นเป็นรถแวนอเนกประสงค์ 6 ที่นั่ง ออกแบบมาเพื่อเป็นรถสำหรับครอบครัว หรือผู้ที่ต้องการความสะดวกสบาย และความหรูหราระดับเฟิร์สคลาส มาพร้อมการตกแต่งภายในที่พิถีพิถัน พื้นที่กว้างขวาง ฟังก์ชั่นการใช้งานที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
เครื่องยนต์เป็นดีเซลเทอร์โบ 4 สูบ ขนาด 1,950 ซีซี รีดพละกำลังสูงสุด 237 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร สามารถทำอัตราเร่งจาก 0 – 100 กม./ชม. ได้ในระยะเวลา 7.4 วินาที มีความเร็วสูงสุดโดยประมาณที่ 220 กม./ชม. ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 9G-TRONIC มีให้เลือก 2 รุ่น V 300 d ราคา 5.8 ล้านบาท และ V250 d ราคา 5.4 ล้านบาท

ส่วน Mercedes-Benz Vito ตู้อเนกประสงค์ขนาด 11 ที่นั่ง ออกแบบมาพร้อมความสมบูรณ์แบบระหว่างฟังก์ชันการใช้งานที่ครบครัน เหมาะสำหรับทั้งการเป็นรถครอบครัวและการใช้งานทางธุรกิจ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 4 สูบ ขนาด 1,950 ซีซี 190 แรงม้า ท็อปสปีดไปได้ถึง 204 กม./ชม. เกียร์อัตโนมัติเดินหน้า 9 จังหวะ ช่วยให้การขับขี่เป็นไปอย่างราบรื่น สนนราคาค่าตัว 3 ล้านบาทนิดๆ

โดดเด่นในกลุ่มรถยุโรป อีกแบรนด์คงหนีไม่พ้น Volkswagen Caravelle 2025 จัดเป็นรถตู้ผู้บริการที่ได้นิยมกันอย่างกว้างขวาง รุ่นปี 2025 ได้รับการปรับปรุงใหม่ มีทั้งรุ่นที่เน้นการใช้งานเชิงพาณิชย์และรุ่นที่เน้นความหรูหรา โดยมีรุ่น Comfortline NGZ ที่ตกแต่งภายในคล้ายกับ Private Jet มีราคาเริ่มต้น 5 ล้านบาท เครื่องยนต์มีทั้งเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ PHEV 2.5 ลิตร และดีเซลเทอร์โบ TDI 2.0 ลิตร มีจอ LED TV ขนาด 32 นิ้ว และชุดเครื่องเสียง เบาะนั่งที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ เบาะนั่งปรับไฟฟ้า 10 ทิศทางเอนเบาะได้สูงสุด 170 องศา พร้อมที่รองน่องและที่พักเท้า มีบันไดข้างไฟฟ้า พร้อมไฟส่องสว่าง

ทีนี่ก็อยู่ที่คุณล่ะครับว่าจะเลือกตัวไหน ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี หรือจีน ให้เหมาะกับครอบครัวและการใช้งาน
