เห็นตัวเลขยอดจองรถในงานมอเตอร์โชว์ 2025 แทบไม่อยากจะเชื่อ!! จัดงาน 14 วัน กดตัวเลขยอดจองรถยนต์ในงานไป 79,941 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 77,379 คัน มอเตอร์ไซค์ 2,562 คัน เห็นตัวเลขแบบนี้ หลายคนอาจจะคิดว่า กำลังซื้อบ้านเรากลับมาแล้ว เศรษฐกิจไทยได้ลืมตาอ้าปากกันเสียที แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้น นี่มันคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมจะเกิด After Shock ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวในงานมอเตอร์โชว์ที่เรากำลังจะพูดถึงนั่นก็คือ ตัวเลขยอดจองรถปีนี้ แชมป์เปลี่ยนมือจากฝั่งญี่ปุ่น ไปอยู่ทางฝั่งจีน โดย BYD ล้มแชมป์ตลอดกาลอย่าง Toyota ด้วยยอดจอง 10,513 คัน ซึ่งยอดนี้เป็นตัวเลขที่รวมยอดจองของแบรนด์ Denza เข้าไปด้วย แต่หากไม่รวม คิดเฉพาะของ BYD ก็ยังชนะอยู่ดี ด้วยตัวเลขยอดจอง 9,819 คัน ในขณะที่ Toyota ขายได้ 9,615 คัน

นี่ถือเป็นแผ่นดินไหวระดับหลายแมกนิจูดที่สั่นสะเทือนไปทั้งวงการ เพราะมันเป็นเครื่องที่บ่งบอกว่ารถจีนกำลังตีตลาดรถยนต์ในเมืองไทยใกล้แตกแล้ว แล้วเจ้าตลาดเดิมจะอยู่นิ่งๆ เหรอ ไม่มีทาง เพราะฉะนั้นเตรียมรับแรงสั่นสะเทือนต่อจากนี้กันได้เลย

เอาล่ะ!! เราลองมาดูตัวเลขยอดจองในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ว่า 5 อันดับแรก เป็นใครบ้าง แน่นอนแชมป์คือ BYD 9,819 คัน อันดับ 2 TOYOTA 9,615 คัน อันดับ 3 GAC AION 7,018 คัน อันดับ 4 DEEPAL 6,067 คัน และอันดับ 5 HONDA 5,948 คัน

ตัวเลขพวกนี้กำลังบอกอะไร? สิ่งแรกที่เห็นชัด คือยักษ์ใหญ่โตโยต้าถูกโค่นแชมป์ เสียท่าให้กับรถจีนอย่าง BYD และที่สำคัญ 5 อันดับแรกมีค่ายรถจีนถึง 3 ยี่ห้อ ซึ่งทางผู้จัดรายงานว่า รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า มีสัดส่วนถูกเลือกเป็นเจ้าของมากถึง 70% ซึ่งแบรนด์จากจีนกวาดไปเกือบทั้งหมด มีเพียงโตโยต้ากับฮอนด้า ที่พอจะนำทัพเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันจากฝากแบรนด์ญี่ปุ่น แถมผู้จัดยังบอกด้วยว่าผู้บริโภคเลือกซื้อรถตามเทรนด์ของโลกที่กำลังพลิกขั้วจากรถใช้เครื่องยนต์สันดาษภายในมาเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังสะอาดแล้ว และตัวเร่งปฎิกิริยาในการตัดสินใจซื้อก็คือ “ราคา” เพราะรถจีนวางกับดักราคาที่ถูกกว่า แถมยังได้ออปชั่นที่มากกว่า

ซึ่งทุกคนยอมรับว่างานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีปล่อยของ ทั้งของใหม่ และของค้างสต๊อกของค่ายรถยนต์แล้ว ยังเป็นเวทีเดือดที่แต่ละค่ายต้องช่วงชิง และตุนตัวเลขเอาไว้ในกระเป๋าก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าระหว่างทางอาจะมีอุบัตเหตุอะไรผุดขึ้นมาอีก ดังนั้นเกมสงครามราคาจึงเกิดขึ้น แบบไม่มีใครกลัวใคร ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น

แต่ที่หนักสุดคงเป็นค่ายจีน โดยเฉพาะ BYD นำร่อง ลดราคาตั้งแต่วันแรกของงาน ถล่มทั้ง ATTO 3 และ Dolphin จากเดิมที่ลดมาแล้ว 2-3 ครั้ง ครั้งละเป็นแสน เที่ยวนี้ลงไปอีกเป็นแสน จนแทบจำราคาเดิมไม่ได้ ดูอย่าง BYD ATTO3 กระหน่ำเข้าไปเหลือ 6 แสนกว่าบาทจากราคาเดิมเป็นล้าน BYD Dolphin เหลือ 4 แสนปลายๆ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีรุ่นอื่นๆ ก็เดินเกมด้วยกลยุทธ์ด้านราคาเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ต่างจาก MG ที่ตอกกลับถล่มราคา MG4 ทันที 1.5 แสนบาท ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ ทยอยใช้ราคาเป็นจุดขาย

ฟากญี่ปุ่นซึ่งมีโปรดักต์ EV น้อย แต่ก็สู้กลับด้วยโปรดักส์ไฮบริด แม้จะเล่นเรื่องราคาไม่ได้มาก แต่ก็พยายามไปหาแง่มุมอื่นๆ โดยเฉพาะแคมเปญทางด้านการเงิน ทั้งฟรีดาวน์ ฟรีดอก แจกแถม ช่วยผ่อน หรือแม้กระทั้งผ่อนต่องวดในราคาต่ำสุดๆ

ปรากฎการณ์แผ่นดินไหวที่งานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ 14 วัน หากมองแบบผิวเผิน คงเห็นเป็นเรื่องปกติ ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกการตลาด ผู้แข่งขันมากราย ผู้บริโภคย่อมได้ประโยชน์ แต่ในมุมความคิดเห็นส่วนตัว และคนที่คร่ำหวอดในวงการรถยนต์ มองว่าปรากฎการณ์แบบนี้จะยิ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ และจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

อย่างแรก กระทบต่อแบรนด์แน่นอน แต่เรื่องนี้แปลก เพราะแบรนด์รถจีนกลับไม่สนความรู้สึกของลูกค้าที่ซื้อไปก่อนหน้านี้ จนมีนักวิชาการหลายรายให้คำจำกัดความว่านี่มันเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่สำคัญลูกค้าที่จะซื้อรถจีนมีลังเลแน่นอน ซื้อวันนี้พรุ่งนี้ลดอีกมั้ยทำให้ภาวะการขายสะดุดเอาดื้อๆ แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้ว หลังจากจบงานฯ ทีมงาน CARZANOVA กลับมองต่างจากนักวิชาการ เพราะคนไทยชอบของเซลส์ เห็นอะไรลดราคาไม่ได้ วิ่งเข้าใส่ทันที แม้กระทั่งรถยนต์ราคาหลายแสนก็เช่นเดียวกัน ตัวเลขจึงปรากฎออกมาดังนี้

เรื่องถัดมาก็คือ ราคาขายต่อ คนซื้อรถจีนช่วงก่อนเกิดสงครามราคา ถึงวันนี้ราคาขายมือสองคงเหลือไม่กี่หมื่นบาท เพราะราคาขายรถยนต์ EV ใหม่วันนี้เริ่มต้นต่ำมาก ซึ่งถ้าใครได้ติดตามในโลกโซเชี่ยลก็จะเห็นคอมเมนต์ที่อ่านแล้วตลก แต่ก็เชื่อว่าคงมีปนกับหยดน้ำตากันบ้าง อาทิ “ซื้อก่อน ประหยัดก่อน ซื้อที่หลัง ประหยัดกว่า” อะไรประมาณนี้

ขณะที่ดีลเลอร์เองก็ได้รับผลกระทบจากสงครามราคาเช่นกัน แม้จะทำให้ขายรถง่ายขึ้น แต่ช่วงนี้หลายดีลเลอร์เริ่มออกปากบ่นแล้ว เพราะทุกอย่างต้องสำรองจ่ายไปก่อนทั้งนั้น มีหลายคนกระซิบให้ฟังว่ากว่าจะได้เงินคืนปาเข้าไป 8-9 เดือน ทั้งระบบตอนนี้เม็ดเงินถุกดูดไปอยู่กับบริษัทแม่ (จีน) หรือดิสทริบิวเตอร์คนไทย รวมแล้วเป็นพันๆ ล้าน

อะไรบ้างที่ต้องสำรองจ่าย อย่างแรกเงินส่วนลด บริษัทแม่ประกาศลด 1 แสนบาท ดีลเลอร์ต้องซื้อราคาเต็มก่อนหักส่วนลด โดยจะคืนให้ทีหลัง ตัวอย่าง สั่ง 10 คัน สำรองจ่ายไปก่อน 1 ล้านบาท แถมส่วนลดมีบางรายดึงดีลเลอร์ไปเอี่ยวด้วย รถทุกคันมีวารันตีทุกอย่างเคลมที่ดีลเลอร์ สำรองจ่ายอีกแล้วทั้ง ค่าประกันภัย ค่าซ่อมบำรุง เกือบทุกยี่ห้อค่าแรงถูกกำหนดให้ต่ำกว่าค่าแรงรถญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว จริงๆ เงื่อนไขนี้ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก ถ้าคืนตามปกติเต็มที่ 45-60 วัน ดีลเลอร์เขาก็พอรับไหว

ทีนี้มาดูในแง่รถญี่ปุ่นที่กำลังต่อกรกับรถจีนบ้าง ช่วงนี้คงหนี้ไม่พ้นต้องเอา “รถยนต์ไฮบริด” ไปสู้เพราะอย่างไรเสีย ญี่ปุ่นเขามีห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนซึ่งยาวเป็นหางว่าว จะให้ขยับไปลุย EV ทิ้งบรรดากลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนทันทีคงทำไม่ได้ แต่ถึงวันนี้ผู้บริหารค่ายญี่ปุ่นต่างยอมรับว่า สู้ไม่ไหวจริงๆ เพราะราคารถจีนถูกมากๆ ถูกเพราะรถจีนมีต้นทุนต่ำ ประเทศจีนมีกำลังการผลิตรถยนต์มากกว่า 40 ล้านคันต่อปี มากกว่าบ้านเราหลายเท่าตัว ลองเทียบขนาดตลาดของจีนจะได้เปรียบด้าน Economic Of Scale มากแค่ไหน?

เห็นมั้ยล่ะ ว่ารูปร่างหน้าตารถจีนใกล้เคียงกันมาก ทั้งแพลตฟอร์ม, แบตเตอรี่, ซอฟแวร์ ฯลฯ ใช้กันได้เกือบทุกยี่ห้อ ยิ่งภายในห้องโดยสาร แดชอร์ด พวงมาลัย เบาะนั่ง ถ้าไม่มองโลโก้แยกไม่ออกว่าเป็นแบรนด์อะไร จุดนี้แหละที่ทำให้ต้นทุนการผลิตรถของจีนต่ำ เพราะฉะนั้นถ้า ญี่ปุ่นจะสู้ราคาให้ได้คงต้องไปบริหารต้นทุนให้ใกล้เคียงกัน

มีหลายคนพูดว่า รถจีนตั้งราคาต่ำได้เพราะ R&D หรือ่ QC เข้มข้นไม่เท่ากับรถญี่ปุ่น ซึ่งในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เค้ารู้กันดีว่างบ R&D และ QC มันทำให้ต้นทุนของรถพุ่งขึ้นไปขนาดไหน ซึ่งถ้าค่ายรถญี่ปุ่นลดต้นทุนจากตรงนี้ ก็พอจะทำราคาสู้กับค่ายรถจีนได้ แต่ถ้าเป็นแนวทางที่ค่ายรถญี่ปุ่นคิดจะเลือกใช้ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะอีกหน่อยเราคงต้องใช้รถที่มีคุณภาพต่ำลง

ปิดท้ายเรื่องนี้กันที่ “กับดักสงครามราคารถจีน” ยังไงก็กระทบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งระบบ และคงโทษใครไม่ได้นอกเสียจากหน่วยงานรัฐ ที่ครั้งแรกปล่อยให้ผู้ประกอบการรถจีน ตั้งราคาขายเอากำไรมากเกินไป จนสามารถใช้กลยุทธ์ถล่มราคาลงได้เรื่อยๆ ประเด็นนี้น่าจะต้องมีการทบทวน

อีกอย่างที่หลายคนกังวล ตัวเลขรถจีนที่นำเข้ามาขายในบ้านเราและมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด และยังมีเงื่อนไขผูกติดกับการผลิตชดเชยปีแรก 1:1 คันปีที่สอง 1:1.5 คัน ตามโครงการ EV3.0 และ EV3.5 ดังนั้นการถล่มราคาของรถจีนวันนี้ ถ้าแต่ละค่ายยังพอมีกำไรเหลืออยู่บ้าง ก็ยังถือเป็นโชคของประเทศไทย แต่ถ้าบางรายต้องยอมกลืนเลือด หรือเฉือนเนื้อตัวเอง เพื่อแลกกับตัวเลขการขาย มองไม่ออกเหมือนกันว่า อนาคตแต่ละรายจะกระทบต่อเงื่อนไขการผลิตคืนด้วยหรือไม่ เพราะแค่ช่วงตลาดสะดุดนิดหน่อยยังวิ่งเต้นขอผ่อนผันกันอุตลุด

ยิ่งช่วงนี้มาตราการภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาเขย่าไปเกือบทุกประเทศทั่วโลก น่าจะทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มเบรกการนำเข้าสินค้าจีน ถึงตอนนั้น อาจจะเป็นอาฟเตอร์ข็อกต่อกระบวนการผลิตรถจีนในบ้านเราอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ภาวนาว่าอย่าให้เหมือน “โครงการรถคันแรก” ของรัฐบาลเพื่อไทยเลย ซึ่งถึงวันนี้ยังหาจำเลยที่จะมารับทราบข้อกล่าวหารวมทั้งเสียค่าปรับไม่ได้ กรณีที่ไม่สามารถผลิตรถคืนได้ตามเงื่อนไขของรัฐบาลเลย … สาธุ
