เห็นยอดขายรถกระบะ หรือ Pure Pick up ช่วง 5 เดือน (มค-พค ) ของปี 2568 ที่ผ่านมา มีปริมาณการขายเพียงแค่ 6 หมื่นกว่าคัน ทรุดตัวต่อเนื่องเกือบ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งๆ ที่บ้านเราตลาดปิกอัพถือเป็น Product Champion และนับเป็นเครื่องมือสำคัญของบรรดา SME สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างเห็นได้ชัด

แม้ว่ารัฐบาลจะรับรู้ถึงปัญหา ทั้งราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักส่งผลให้กลุ่มผู้ใช้รถกระบะ เช่น เกษตรกร, SME, ผู้ประกอบการรายย่อย ยังขาดความสามารถในการเข้าถึงสินค้าเหล่านี้ และพยายามหามาตรการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยปลดหนี้ หรือ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. และจะไปสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2568 ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อรถกระบะ วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นยอดขายรถปิกอัพ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสถาบันการเงินปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อ

ผ่านมาเกือบ 3 เดือนเต็มมาตราการดังกล่าวกลับ “ไม่ตอบโจทย์”
ผู้บริหารค่ายรถปิกอัพหลายรายยืนยันตรงกันว่า ลูกค้าที่ใช้มาตราการสนับสนุนของรัฐคิดเป็นเพียง 1 % ของยอดขายเท่านั้น เหตุผลหลักยังมาจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ความสามารถในการผ่อนชำระรถใหม่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปรถยนต์กลุ่มอื่น รวมถึง ภาระหนี้เก่า และความไม่มั่นใจในอนาคตของประเทศไทย ทั้งราคาน้ำมัน, และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้ผู้บริโภคเลื่อนการตัดสินใจซื้อออกไป

ขณะที่ กลุ่ม SME ที่อยากซื้อรถมองว่า มาตรการนี้มีหลายเงื่อนไขที่ไม่เอื้อให้ตัดสินใจ เช่น สถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดมากเกินไป เพราะห่วงหนี้ครัวเรือน ถึงแม้รัฐจะเข้ามาค้ำประกันก็จริง แต่หลายแห่งยังไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ กังวลว่าต้นทุนของรถมือสองเวลาถูกยึดแล้วนำไปขายทอดตลาด จะทำให้ตนเองขาดทุน และที่สำคัญคือระยะเวลาดำเนินการยังช้ามาก ลูกค้าต้องรอการค้ำประกันราวๆ 4 เดือน หมดโอกาสทำมาหากิน ดังนั้นอยากเรียกร้องให้ลดเวลาเหลือสัก 1- 2 เดือนน่าจะพอ

สอดคล้องกับ ผู้บริหารกลุ่มสินเชื่อ มองว่า มาตรการนี้กลุ่มเป้าหมายแคบเกินไป โฟกัสเฉพาะ SME ที่ใช้รถกระบะทำธุรกิจ แต่ผู้ซื้อทั่วไปไม่ได้ประโยชน์ โดยสรุป คือมาตรการยังไม่ดีพอ สิ่งที่ควรปรับปรุงตอนนี้คือเร่งกระบวนการค้ำประกันให้เร็วขึ้น ลดระยะเวลาเหลือ 1–2 เดือน ขยายขอบเขตมาตรการ หามาตราการเสริมเช่นรถเก่าแลกรถใหม่ พร้อมหามาตรการลดภาษีมาเสริมด้วย

ควรจะมีมาตราการสร้างโปรแกรมช่วยเงินดาวน์ หรือ ลดภาระดอกเบี้ย เพื่อให้ผู้ซื้อทั่วไปมีแรงจูงใจ หรือประกันพิเศษสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ลูกค้าเก่าหรือรายใหม่ที่มีเครดิตดี

สำหรับมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ให้สิทธิประโยชน์ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก โดยรัฐบาล กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ ส่วนปีที่ 4-7 คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่ำเพียง 1.5% ต่อปี ของภาระหนี้ค้ำประกันในแต่ละปี

ซึ่งมาตรการนี้ คลังมั่นใจว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่ เข้าถึงสินเชื่อได้กว่า 6,250 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 5,000 ล้านบาท และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังช่วยพลิกฟื้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยได้มากกว่า 2,500 บริษัท