Suzuki XL7 รถเอ็มพีวี 7 ที่นั่ง ที่อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องพละกำลังอะไรมากมายนัก แต่ถ้าถามถึงเรื่องของราคาค่าตัวแล้วล่ะก็?? คุ้มค่า ประหยัดจริง แถมมีการเพิ่มระบบ Mild-hybrid ช่วยเติมความประหยัดน้ำมัน แม้จะไม่มาก แต่ก็ช่วยรักษ์โลกได้มากยิ่งขึ้น
Suzuki XL7 Hybrid ไม่ได้มีรุ่นย่อยให้เลือก คือมีรุ่น GLX ทำตลาดเพียงเท่านี้ โดยมีราคาจำหน่ายช่วงแนะนำอยู่ที่ 799,000 บาท สำหรับจุดที่ต่างออกไปในตัว Hybrid จะมีอะไรบ้าง ขอสรุปให้ดังนี้
ภายนอกด้านหน้ามาพร้อมกระจังหน้าโครเมียมดีไซน์ใหม่ ออกแบบรับกับไฟหน้าแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์ LED ที่เพิ่มระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ พร้อมฟังก์ชัน Guide Me ที่ช่วยหน่วงเวลาส่องสว่างนำทางเข้าบ้าน และเมื่อเดินเข้าหาตัวรถ ส่วนด้านท้ายมีการตกแต่งด้วยแผง Chrome Black Garnish สีดำบริเวณเหนือช่องติดแผ่นป้ายทะเบียน ส่วนแถบโครเมียมก็มีการปรับจากตัวเก่า ซึ่งแนวเส้นโครเมียมตัวเก่าจะอยู่ล่างโลโก้ Suzuki แต่ตัว Hybrid จะอยู่เหนือโลโก้ Suzuki และเติมด้วยสัญลักษณ์ HYBIRD เพื่อบ่งบอกตัวตนของขุมพลัง ในขณะที่ล้อแม็กไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นขนาด 16 นิ้ว หุ้มด้วยยางขนาด 195/60 R16 ที่ราคาไม่แพง
พร้อมกันนี้ยังได้มีการเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานเติมเข้าไปทั้ง ระบบพับ-กางกระจกมองข้างอัตโนมัติเมื่อล็อกและปลดล็อกประตูรถ, ระบบ Idling Stop, ระบบ Cruise Control ที่น่าเสียดายว่ายังไม่ใช่แบบ Adaptive นอกจากนี้ยังได้ปรับหน้าจอสัมผัสขนาด 10.1 นิ้ว ให้สามารถรองรับ Apple CarPlay และ Android Auto ผ่านสาย USB และยังสามารถแสดงภาพจากกล้องมองหลังขณะถอยรถ พร้อมเซ็นเซอร์กะระยะด้านท้าย และยังมีการติดตั้งกล้องบันทึกภาพขณะขับขี่ (DVR) มาให้จากโรงงาน โดยสามารถย้อนดูคลิปเหตุการณ์จากหน้าจอ ได้ทันที ขณะที่ช่อง HDMI ยังคงมีให้เช่นเดิม
ขยับเข้ามาภายในห้องโดยสารกันบ้าง ซึ่ง Suzuki XL7 Hybrid อาจจะไม่มาพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแบบเต็มสตรีมอะไรมากนัก แต่ต้องถือว่าคุ้มกับค่าตัวที่ตั้งมาในระดับไม่ถึง 8 แสนบาท โดยเบาะนั่งทุกตำแหน่งทั้ง 3 แถม หุ้มด้วยวัสดุผ้าสีเทา-ดำ ปรับสูง-ต่ำฝั่งผู้ขับขี่ได้ เบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถปรับเลื่อนหน้า-หลัง และปรับเอนเพิ่มความสบายได้ มีพนักพิงศีรษะมาให้ครบ 3 ตำแหน่ง และเบาะแถวที่ 3 สามารถปรับพับ 50:50 ได้
ส่วนฟีเจอร์อื่นๆ เท่าที่ดูก็จะมี กุญแจ Keyless Entry พร้อมปุ่ม Keyless Push Start, พวงมาลัยมัลติฟังก์ชัน D-Shape พร้อมปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์ และ Cruise Control, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ พร้อมระบบปรับอากาศตอนหลังปรับแรงลมได้ 3 ระดับ, ช่องวางแก้ว 2 ตำแหน่งด้านหน้าพร้อมช่องเป่าลมเย็น และ Wireless Charger พร้อมช่องจ่ายไฟ 12V อีก 3 ตำแหน่ง
ด้านระบบความปลอดภัยถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน มีระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Hold Control, เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุด ทั้ง 7 ตำแหน่ง, จุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX บริเวณเบาะแถวสองจำนวน 2 ตำแหน่ง และถุงลมนิรภัยฝั่งผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า
มาที่ขุมพลังซึ่งถือเป็นไฮไลท์สำคัญของการทดลองขับครั้งนี้ ซึ่งเจ้า Suzuki XL7 Hybrid ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ รหัส K15B ความจุ 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 138 นิวตัน-เมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ และเสริมด้วยมอเตอร์ ISG หรือ Integrated Starter Generator ทำงานคู่กับแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนความจุ 12Ah ที่สามารถเสริมกำลังเครื่องยนต์ได้สูงสุด 1.8 kW หรือประมาณ 2.5 แรงม้า กับแรงบิดสูงสุด 50 นิวตัน-เมตร
โดยการทำงานของขุมพลังชุดนี้เป็นระบบ Mild-hybrid (Smart Hybrid (SHVS)) ซึ่งจะช่วยเสริมพละกำลังในช่วงออกตัว และเพิ่มความนุ่มนวลการทำงานของ Idling Stop ที่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันช่วยยังไง เอาง่ายๆ คือ ปกติการสตาร์ทเครื่องยนต์จะใช้ไดสตาร์ท แต่หากเป็นการติดเครื่องยนต์ในช่วงทำงานของระบบ Idling Stop ระบบ Smart Hybrid จะใช้มอเตอร์ ISG ทำหน้าที่ติดเครื่องยนต์ขึ้นมาแทน ซึ่งแน่นอนว่ามันทำงานได้นุ่มและเงียบกว่าใช้ไดสตาร์ทแน่นอน
ซึ่งจากการทดลองขับ ต้องบอกว่าขุมพลังชุดนี้มันให้ความรู้สึกด้านอัตราเร่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่แค่เล็กน้อย รวมถึงความประหยัดก็ไม่ได้มากกว่าเดิมซักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังใช้ชุดเกียร์แบบร์อัตโนมัติ 4 สปีด ซึ่งถ้าหันมาคบหากับเกียร์ CVT ก็น่าจะทำทั้งอัตราเร่ง และความประหยัดได้ดีกว่านี้ ขณะที่ช่วงล่างห่างนั่งเบาะแถวหน้า จะรู้สึกว่านุ่มนวล หากแต่ถ้านั่งแถว 2 – 3 อาจรู้สึกสะเทือนกว่าแถวหน้าบ้าง เพราะช่วงล่างเป็นแบบทอร์ชั่นบีม ส่วนการเข้าโค้งที่ความเร็วสูง อาจมีบางจังหวะที่รู้สึกถึงอาการโคลงบ้าง เพราะเจ้า XL7 Hybrid ถูกออกแบบให้ Ground Clearance สูงถึง 200 มม. ซึ่งเหมาะกับท้องถนนเมืองไทย ที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ แผ่นเหล็กแปะถนน รวมไปถึงหน้าฝน ที่ต้องเจอน้ำท่วมแบบหลีกไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องแลกกันหน่อย ความสะดวกสบายเรื่องความสูงใต้ท้องรถ แต่ความเร็วก็อาจต้องลดลงมา ซึ่งหากวิ่งในระดับที่กฎหมายกำหนดช่วง 120 กม./ชม. ก็ถือว่าสบาย หากแต่มากกว่านั้นก็ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นหน่อย
Suzuki XL7 Hybrid ยังเป็นรถ MPV 7 ที่นั่งที่เน้นความคุ้มค่าราคาประหยัด
ปิดท้าย ท้ายสุด กับเรื่องของการซ่อมบำรุง หรือเข้าศูนย์บริการ ขึ้นชื่อว่า Suzuki แบรนด์นี้เขาไม่ขูดเลือดขูดเนื้อกับลูกค้า เพราะค่าเข้าศูนย์ฯ ไม่แพงมาก แถมมาพร้อมการรับประกันแบตเตอรี่ไฮบริด 5 ปี หรือ 100,000 กม. เอาเป็นว่าใครกำลังมองหารถที่มากความคุ้มค่า ลองมอง Suzuki XL7 Hybrid ไว้เป็นทางเลือกได้ครับ ส่วนเรื่องสมรรถนะความแรง ความประหยัด อาจไม่ใช่จุดเด่นอะไรมากนักของรถคันนี้ แต่ถ้าเลือกความคุ้มค่า คุ้มราคา คันนี้ได้เลย