ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มธนบุรี ประกาศแต่งตั้ง “ณรงค์ สีตลายน” นำทัพรถยนต์แบรนด์จีลี่ในไทยจริงๆ ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะผู้บริหารในวงการรถยนต์ส่วนใหญ่ก็ “สวิชต์แบรนด์” ไปมาหลังจากโบกมือลาจากที่เดิม

แต่สิ่งที่หลายคนในวงการกำลังจับตามองคือ CEO คนใหม่จะนำพาแบรนด์จีลี่ (GEELY) ไปถึงฝั่งฝัน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุ่นแรงในตลาดรถยนต์ EV ได้มากน้อยเพียงใด เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นรถยนต์แบรนด์จีน เกลื่อนกราดเต็มบ้านเต็มเมือง แถมแต่ละค่ายยังทำตลาดกันอย่างดุดันเสียด้วยโดยเฉพาะ “สงครามราคา”

กลุ่มธนบุรีฯ กระโดดเข้าสู่ตลาด EV โดยจัดตั้งบริษัท ธนบุรีนอยสเติร์น จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์แบรนด์จีลี่อย่างเป็นทางการในประเทศไทย การเลือก “ณรงค์” เข้ามาเสริมทัพก็น่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้อง เพราะคนในตระกูลวิริยะพันธ์ อาจไม่คุ้นเคยงานบริหารด้านการตลาดการขาย ทั้งชีวิตคว่ำหวอดอยู่แต่ในโรงงานผลิต

ณรงค์ ซึ่งในตำแหน่งซีอีโอจะดูแลรับผิดชอบในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์และการดำเนินงานด้านการขาย การตลาดและบริการหลังการขาย เครือข่ายผู้จำหน่าย รวมถึงการสร้างแบรนด์จีลี่ในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง จากการสั่งสมประสบการณ์ในวงการยานยนต์ทั้งในและนอกประเทศมายาวนานกว่า 20 ปี เคยนั่งบริหารบริษัทรถยนต์ทั้งญี่ปุ่น-อเมริกา ล่าสุดเพิ่งโบกมือลาจากเกรทวอลล์ มอเตอร์ หลังไปปลุกปั่นจนแบรนด์เกรทวอลล์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในไทย

เขายังมีบทบาทสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านการวางกลยุทธ์ การสร้างแบรนด์ และการบริหารธุรกิจ
เกรทวอลล์ มอเตอร์ ที่ณรงค์เคยบริหารน่าจะเป็นรายแรกๆ ในบ้านเราที่ใช้ “One Price Policy” โดยยังไม่เคยมีค่ายไหนทำมาก่อน ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ในตลาดบ้านเราที่ช่วยลดความร้อนแรงในการแข่งระหว่างดีลเลอร์ได้ดีทีเดียว เกรทวอลล์ใช้เวลาแค่ 4 ปีเศษๆ สามารถขยายดีลเลอร์ทั่วประเทศได้มากถึง 80 แห่ง ที่สำคัญสามารถเปิดตัวรถยนต์ใหม่ 9 รุ่นภายใน 3 ปี ถ้าจะบอกว่านี่คือ “ความสำเร็จ” ของผู้กุมบังเหียนคงไม่ผิด
แต่การทำงานกับนักธุรกิจจีนยังถือเป็น”โจทย์หิน” พอสมควร เรามักได้ยินเสียงสะท้อนว่าทำงานกับคนจีน “หัวจะปวด” จากปากผู้บริหารคนไทยอยู่เนื่องๆ เหล่านี้คือ ความท้าทายที่ต้องเผชิญ
เกรทวอลล์เคยประกาศว่าจะไม่ยุ่งกับ “สงครามราคา” แต่สุดท้ายต้องยอมกลื่นน้ำลายตัวเอง เพราะผู้บริหารชาวจีนจะเอา เป็นที่รู้กันว่า ถ้าบริษัทแม่เข้ามาแบบเต็มตัว มักจะมีผู้บริหารชาวจีนมานั่งบัญชาการทำงานควบคู่ไปกับคนไทย แต่น้ำหนักการตัดสินใจคนจีนมาก่อนหรือตรงนี้ คือฟางเส้นสุดท้ายที่ “ณรงค์” ตัดสินใจปิดฉากกับเกรทวอลล์
และหันมาดูฝั่ง GEELY โมเดลธุรกิจต่างกันรูปแบบคือ “ดิสทิบิวเตอร์” ซึ่งผู้บริหารคนไทยสามารถตัดสินใจได้เต็มที่ ถ้าให้วิเคราะห์แบบฟันธงโอกาสของ “ณรงค์” ที่จะดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกสู่การเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคง “ง่าย” กว่าเมื่อครั้งอยู่เกรทวอลล์
หลังจากนี้คงได้เห็นการปรับปรุงประสิทธิภาพภายในองค์กร ยกระดับทั้งงานขาย และบริการหลังการขาย และแน่นอนนโยบาย One Price Policy ต้องมา รวมถึงการขยายเครือข่ายบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับ GEELY EX5 รถยนต์อเนกประสงค์แบบไฟฟ้า 100% รุ่นล่าสุดไปในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปเมื่อปีที่แล้ว
ปัจจุบันจีลี่มีดีลเลอร์แล้ว 22 แห่ง จากเป้าขยายเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการ 30 แห่งภายในปี 2568 และเชื่อว่าไม่เกินไตรมาสที่ 2 ในปีนี้ ธนบุรีนอยสเติร์น ก็น่าะจะทีมบริหารเข้ามาเสริมทัพอีกจำนวนไม่น้อย เพราะ “ณรงค์” ยังคงเชื่อมั่นการทำงานแบบทีมเวิร์ค โดยเฉพาะทีมที่คุ้นเคยชนิดมองตาก็รู้ใจ
ส่วน KPI ตัวเลขขายทั้งปีคงเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีสำหรับแชปเตอร์แรก ขณะที่แชปเตอร์ต่อไป คงต้องรอ “ จีลี่ โฮลดิ้ง” ตัดสินใจให้ธนบุรีฯ ขึ้นไลน์ผลิตในบ้านเราเสียก่อน เพื่อปลุกปั้นโรงผลิตของธนบุรีฯ ให้เป็นฮับพวงมาลัยขวาของอาเซียนต่อไป