จะว่าไปแล้วมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่หรือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในบ้านเราที่รัฐบาลไทยให้สิทธิประโยชน์ที่มากมายกับนักลงทุน อาทิ BOI ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้า และชิ้นส่วน กรมสรรพสามิตให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถ และผู้ขายสามารถนำเข้ามาจำหน่ายได้ก่อน แบ่งเป็น 2 เวอร์ชั่น โดยเวอร์ชั่นแรก EV 3.0 ระหว่าง (2565-2566) อุดหนุนเงิน 150,000 บาท สำหรับซื้อรถ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และเงินอุดหนุนจักรยานยนต์ไฟฟ้า 18,000 บาท สำหรับรถ EV ราคาไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนเวอร์ชั่นที่ 2 EV 3.5 ระหว่าง (2567-2570) สำหรับรถ EV, รถกระบะ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท เงินอุดหนุน 100,000 บาทต่อคัน รถจักรยานยนต์ EV ราคาไม่เกิน 150,000 บาท เงินอุดหนุน 5,000-10,000 บาทต่อคัน ตามขนาดแบตเตอรี่

ซึ่งแต่ละเวอร์ชั่น มีเงื่อนไขการผลิตภายในประเทศชดเชย จะเลือกแบบตั้งโรงงานผลิตเอง หรือจ้างผลิตก็ได้ เวอร์ชั่นแรกกำหนดตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ในอัตรา 1:1 เท่า และ 1:1.5 เท่า ในปีถัดไป ขณะที่เวอร์ชั่นที่ 2 กำหนดผลิตชดเชย 1:2 เท่า ภายในปี 2569 และ 1:3 เท่า ภายในปี 2570

ทั้งหมดนี้ล้วนจูงใจให้นักลงทุนที่มีความสนใจขนเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทเข้ามาตั้งโรงงานประกอบทั้งตัวรถ แบตเตอรี่ และพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ฮับ EV ในภูมิภาคนี้ ช่วยเพิ่มการจ้างงานแรงงานไทย เพิ่มอัตราเร่งการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น และที่สำคัญทำให้คนไทยได้มีโอกาสใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานมากสูงขึ้น เพราะประเทศไทยได้การยอมรับจากนานาชาติว่า มีศักยภาพและความพร้อมเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตยานยนต์ในระดับโลก จากข้อมูลสถาบันยานยนต์ในปี 2566 ระบุว่า ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 10 ของโลก

ที่เกริ่นมาข้างต้นนี้ไม่ได้หมายความว่า รถจีนที่ผลิตในประเทศจีน แล้วเอามาขายบ้านเราจะตกมาตรฐาน เพียงแต่ส่วนใหญ่ชิ้นส่วนที่ติดรถมาจากจีน ราคาค่อนข้างถูก หรือเกรดอาจจะต่ำกว่าบ้านเราเล็กน้อย อาทิ ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ หรือแอสเซสซอรี่บางตัว คุณภาพอาจจะไม่โดดเด่นเท่าแบรนด์ญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ยกตัวอย่าง ยางติดรถที่นำเข้ามาจากจีน ส่วนใหญ่ก็จะมากับยางแบรนด์ท้องถิ่น หรือแบรนด์ยางในประเทศ ซึ่งถ้าไปเทียบกับยางแบรนด์ญี่ปุ่น หรือยุโรป แม้บางค่ายจะใช้ยางแบรนด์ดังในจีน แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพเป็นรอง

ยกตัวอย่างล่าสุดรถยนต์ EV ที่ผลิตในบ้านเรา ซึ่งต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศตามกฎกระทรวงอย่าง MG S5 EV ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตัวนี้น่าสนใจเพราะใช้ยาง OEM ที่ใช้เป็น BRIDGESTONE TURANZA 6 ซึ่งเป็นยางระดับพรีเมียมมาตรฐานใหม่ให้ความนุ่มสบาย พัฒนาภายใต้เทคโนโลยี ENLITEN นวัตกรรมใหม่ของเทคโนโลยียางน้ำหนักเบาซึ่งลดการใช้ทรัพยากรวัตถุดิบและยังลดความต้านทานการหมุนลง เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในยานพาหนะ

ขนาดยางเป็น 215/55R18 ราคาต่อเส้นเกือบ 8 พันบาท คุณสมบัติเด่น ยึดเกาะมั่นใจทุกสภาพถนน เงียบและนุ่มนวล รองรับช่วงล่างของรถยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง มีอายุการใช้งานยาวนานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เห็นคุณสมบัติแบบนี้ ถ้าเอาไปเทียบกับยางติดรถจากเมืองจีน เชื่อว่าคนไทยยังให้คะแนนยางแบรนด์ญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกันมานานมากกว่าแน่นอน ถึงตรงนี้คงเห็นข้อดีของการตั้งโรงงานผลิตหรือประกอบรถยนต์จีนในประเทศไทยแล้วนะครับ ส่วนหนึ่งก็เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจรถยนต์จีนที่กำลังเป็นที่นิยมในไทย ว่าเราควรจะเลือกรุ่นไหน ผลิตและประกอบที่ไหน รวมถึงด้วยเหตุผล อะไร อย่างไร นั่นเองครับ
