เมืองไทยตอนนี้ จะว่าไปรถไฟฟ้า หรือ EV  100% กำลังได้รับความสนใจมากทีเดียว แม้จะมีปัญหาเรื่องจุดชาร์จที่ยังไม่ค่อยรองรับอยู่บ้างก็ตาม ซึ่งล่าสุดหลายค่ายหลายแบรนด์ต่างก็พยายามเข็นโปรดักซ์ของตัวเองที่เป็นรถไฟฟ้า EV แบบ 100% ออกมาเพื่อตอบรับความต้องการในจุดนี้ รวมถึงแบรนด์รถสปอร์ตหรูอย่างปอร์เช่ ที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดตัว Porsche Taycan ทั้งตัว 4S, Turbo และ Turbo S ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่มีความแรงในโหมดปกติระดับ 435 – 625 แรงม้า ในราคา 7.1 ล้านบาท 9.9 ล้านบาท และ 11.7 ล้านบาท ตามลำดับ โดยทั้ง 3 รุ่น ใช้ชุดมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ผลิตกำลังแยกกันระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง แต่เพื่อเป็นการเปิดทางเลือกให้กับลูกค้าที่อาจไม่ต้องการความแรงที่มากนัก รวมถึงไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายหนัก ล่าสุดทางปอร์เช่จึงได้ออกรุ่น Taycan รุ่นขับหลังมา โดยจะมีมอเตอร์ชุดเดียวที่ล้อคู่หลัง ซึ่งให้พละกำลังในโหมดปกติอยู่ที่ 326 แรงม้า และจะเพิ่มเป็น 408 แรงม้า เมื่อทำงานใน overboost mode และ Launch Control แต่จะยกระดับเป็น 380 แรงม้า ในโหมดปกติ และ 476 แรงม้าใน overboost mode และ Launch Control จากอุปกรณ์พิเศษ Performance Battery Plus ในราคาเริ่มต้น 6.19 ล้านบาท

 

 

Porsche Taycan

 

สำหรับ ไทคานน์ รุ่นขับหลังนี้ สารภาพเลยว่าก่อนที่จะได้ลองขับ ผมไม่ค่อยว๊าวเท่าไหร่ เพราะก่อนหน้านี้เคยได้ลองขับตัว ไทคานน์ เทอร์โบ ซึ่งเป็นรุ่นที่สูงกว่ามาแล้ว แต่เชื่อไหมครับว่า ความรู้สึกผมเปลี่ยนไปทันทีที่ได้เหยียบคันเร่งออกไปจากโชว์รูม เห้ย!! นี่มันเป็นรถไฟฟ้าที่ใช่สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแบรนด์ ที่แน่นอนแม้จะขับรุ่นเริ่มต้น แต่ถ้าขับปอร์ชไปไหน ใครๆ ก็ต้องเหลียว แถมคันนี้เลิศตรงที่ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายหนักอีกต่างหาก นี่ยังไม่รวมถึงสมรรถนะ ทั้งในส่วนของขุมพลังที่หลายคนอาจจะมองว่า อ้าว!! กำลังลดลง แล้วจะชอบได้ยังไง ตรงนี้ผมอธิบายสั้นๆ ก่อนจะไปเหลายาวๆ ว่า พละกำลังของไทคานน์ตัวนี้มันกำลังกลมกล่อมครับ คือไม่แรงจนเกินไป เรียกได้ว่าให้แฟนขับก็ไม่ต้องเป็นห่วง ว่าจะเอารถอยู่มั้ย และที่แน่ๆ คือมันไม่อืดแน่นอนครับกับพละกำลังระดับ 326 แรงม้า ส่วนเรื่องช่วงล่างนั้น จุดนี้คือชอบมาก เพราะฟิลลิ่งมันเป็นรถที่ขับได้ทุกวัน โดยเลือกได้ว่าอย่างได้ช่วงล่างสไตล์ไหน นุ่ม ก็นุ่นเป็นรถสไตล์ผู้ดี หรือจะสปอร์ต ก็ไว้ใจได้ในความเร็วสูง ซึ่งโหมดของช่วงล่างก็มีให้เลือกปรับได้ 3 ระดับ

 

 

เอาล่ะ!! เกริ่นไปเยอะและ เรามาเข้าดีเทลแต่ละเรื่องของเจ้า ไทคานน์ คันนี้กันเลยดีกว่าครับ

 

 

เริ่มกันที่สมรรถนะการขับขี่กันก่อนเลย สำหรับ ปอร์เช่ ไทคานน์ รุ่นขับหลังนี้ อย่างที่บอก มีมอเตอร์มาให้ชุดเดียวแต่เป็นมอเตอร์แบบสมรรถนะสูง ติดตั้งบริเวณเพลาคู่หลัง โดยส่งกำลังผ่าน two-speed transmission สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 600 แอมป์ ซึ่งให้พละกำลังในโหมดปกติอยู่ที่ 326 แรงม้า ก็อย่างที่บอกแหล่ะครับ ว่าพละกำลังขนาดนี้มันกำลังพอดิบพอดี ไม่แรงเกินไป แต่ก็ไม่อืดอาด สำหรับการแบกตัวถังหนักราวๆ 2 ตัน โดยสามารถทำอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งไปยังความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ภายในเวลา 5.4 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากแต่ใครยังต้องการความแรงเพิ่มก็เข้ามาที่ Overboost Mode พละกำลังก็จะเพิ่มมาให้เป็น 408 แรงม้า ซึ่งก็ถือว่าแรงเอาเรื่องอยู่ทีเดียว

 

 

หากแต่ใครที่ยังไม่พอใจกับความแรงระดับนี้ จะซื้ออุปกรณ์พิเศษ Performance Battery Plus เพิ่มเติมในราคาประมาณ 3 แสนบาท ก็สามารถทำได้ โดยจะให้ความแรงเพิ่มขึ้นแบบเห็นได้ชัด โดยในโหมดปกติ พละกำลังจะเพิ่มมาอยู่ที่ 380 แรงม้า และจะขยับสูงขึ้นเป็น 476 แรงม้า ใน Overboost Mode ซึ่งนอกจากความแรงที่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว ในส่วนของระยะทางการวิ่งต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยหากเป็นตัวแบตเตอรี่เดิมที่ให้กำลังสูงสุด 79.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะวิ่งได้ระยะทาง 431 กิโลเมตร แต่หากติดตั้ง Performance Battery Plus ที่ขยับประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็น 93.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะวิ่งได้ถึง 484 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการทดสอบตามมาตรฐาน WLTP แต่ตามประสบการณ์การใช้จริง ก็ต้องอยู่ที่การขับด้วย คือถ้าใช้อัตราเร่งบ่อย หรือความเร็วสูงระยะทางก็จะน้อยลงไปด้วยเช่นกัน

 

 

นอกจากนี้ในความพิเศษของตัวแบตเตอรี่ที่อยู่ในไทคานน์ ทั้งแบตเตอรี่ตัวมาตรฐานที่มีสามารถรองรับการประจุพลังงานได้สูงสุดที่ 225 กิโลวัตต์ ในขณะที่ตัว Performance Battery Plus จะรองรับการประจุได้มากขึ้นเป็น 270 กิโลวัตต์ โดยแบตเตอรี่ทั้ง 2 ตัวนั้นจะใช้ระยะเวลาในการชาร์จพลังงานจาก 5 - 80 % ในสภาวะการชาร์จไฟปกติ เพียง 22.5 นาที และสะสมพลังงานจนวิ่งได้ถึง 100 กิโลเมตร หลังจากการชาร์จเพียง 5 นาทีเท่านั้น พร้อมกันนี้ยังมีระบบชาร์จพลังย้อนกลับ recuperation power ได้สูงสุดถึง 265 กิโลวัตต์

 

 

ว๊าว!! เริ่มเห็นการพัฒนาเรื่องการชาร์จที่สดใสขึ้นแล้ว

 

 

ขยับมาที่เรื่องสมรรถนะการควบคุมบ้าง สำหรับ ปอร์เช่ ไทคานน์ มาพร้อมระบบ Porsche 4D-Chassis Control ซึ่งรับหน้าที่วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลที่ได้จากระบบควบคุมช่วงล่างทั้งหมดแบบ real time ซึ่งระบบช่วงล่างของไทคานน์นั้นจะเป็นแบบอิสระช็อคอัพคอยล์สปริงปรับไฟฟ้าทั้ง 4 ล้อ ในรุ่นมาตรฐาน แต่ใครจะอัพเกรดเป็นช่วงล่างถุงลมปรับระดับอัตโนมัติ Adaptive Air Suspension พร้อมเทคโนโลยี three-chamber รวมทั้งระบบ PASM (Porsche Active Suspension Management) electronic damper control system ก็ทำได้เช่นเดียวกัน แต่บอกตามตรงเลยครับว่า ช่วงล่างสแตนดาร์ดที่ติดรถมาให้นั้นก็เพียงพอเป็นอย่างมากแล้ว โดยช่วงล่างของไทคานน์จะมีให้เลือก 3 โหมด Normal, Sport และ Sport+ โดนในโหมด Normal นั้นการใช้งานแบบสบายๆ ขับนุ่มนวล ซึ่งต้องบอกว่าโหมดนี้ผมชอบมาก ไม่คิดว่ารถของปอร์เช่จะทำช่วงล่างได้นุ่มนวลได้ขนาดนี้ ขยับขึ้นมาหน่อยในโหมด Sport สำหรับคนที่ชอบฟิลลิ่งช่วงล่างแข็งหน่อย เอาไว้ขับช่วงความเร็ว แต่ก็ไม่กระด้างมากนัก ซึ่งจะต่างจากโหมดSport+ ที่จะเน้นการควบคุมเต็มที่ฟิลลิ่งมาแบบสปอร์ตเต็มๆ โดยทั้ง 3 โหมดนั้น ไม่ใช่ว่ามีไว้เฉยๆ พอขับจริงๆ แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่นี่ไม่สัมผัสได้ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน นอกจากนี้ทั้ง 3 โหมดยังสามารถปรับความสูงความตัวรถได้อีก 4 ระดับ Lift, Medium, Lowed  และ Low เรียกว่าใช้งานได้ในทุกสถานการณ์ในรถคันเดียว

 

 

อ่อเกือบลืมบอกไป ในส่วนของระบบ Adaptive Air Suspension ไม่ใช่แค่เพิ่มความนุ่มนวลเกาะถนนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้รับการเสริมด้วยฟังก์ชัน Smartlift ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ยกระดับความสูง ของช่วงล่างได้โดยอัตโนมัติ เมื่อขับขี่บนเส้นทางที่สุ่มเสี่ยง อาทิ ถนนขรุขระ หรือการนำรถเข้าศูนย์บริการ โดยฟังก์ชัน Smartlift สามารถปรับเปลี่ยนระดับความสูงของตัวรถให้สัมพันธ์กับการขับขี่ แม้แต่การเดินทางบนมอเตอร์เวย์รวมทั้ง ปรับแต่งเพื่อให้เกิดความสมดุลที่สุด ระหว่างสมรรถนะกับความนุ่มนวลสะดวกสบาย

 

 

มาที่เรื่องเบรกกันบ้าง สำหรับ ปอร์เช่ ไทคานน์ มาพร้อมระบบเบรกที่คู่หน้าเป็นคาลิเปอร์อะลูมิเนียมโมโนบลอก 6 ลูกสูบ และ 4 ลูกสูบในเบรกคู่หลัง จานเบรกหน้ามาพร้อมครีบระบายความร้อน เส้นผ่านศูนย์กลาง 360 มิลลิเมตร และ 358 มิลลิเมตร สำหรับด้านหลัง โดยตัวคาลิเปอร์เบรกในรุ่นนี้จะเป็นสีดำ black anodised ซึ่งจะต่างจากตัว Taycan Turbo จะเป็นเบรกแบบ Porsche Surface Coated Brake ที่จะไม่มีฝุ่นเขม่าเบรก โดยคาลิปเปอร์เบรกจะเป็นสีขาว และก็ต่างจากรุ่น Taycan Turbo S ซึ่งก็จะอัพเกรดไปอีกเป็นระบบเบรกเซรามิกน้ำหนักเบา Porsche Ceramic Composite Brake (PCCB)

 

 

แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ สำหรับใครที่ยังรู้สึกว่าเบรกเดิมที่ผมลองขับแล้วก็เพียงพอกับการหยุดรถ แต่มันยังไม่สุดก็สามารถสั่งติดตั้ง Porsche Surface Coated Brake (PSCB) ที่มาพร้อมจานเบรกคู่หน้าเพิ่มขึ้นเป็น 410 มิลลิเมตร และคู่หลังขนาด 365 มิลลิเมตร ก็ทำได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่คุณเติมตังค์ลงไป

 

 

เป็นอันจบเรื่องสมรรถนะ มาต่อเรื่องของตัวรถกันบ้าง

 

 

สำหรับ ปอร์เช่ ไทคานน์ รุ่นขับหลัง เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นอื่นในสายพันธุ์เดียวกัน จะแตกต่างกันที่ ล้ออัลลอย ซึ่งเอาจริงๆ ไม่ค่อยคุ้นกับลวดลาย (Taycan Aero) แบบนี้ในปอร์เช่เท่าไหร่ แต่เค้าบอกว่ามันเป็นในเรื่องของอากาศพลศาสตร์ โดยมีขนาด 20 นิ้ว ประกบกับยางหน้าขนาด 245/45 R20 และยางหลังขนาด 285/40 R20 นอกจากนี้ก็อย่างที่บอกคาลิเปอร์เบรกเป็นสีดำ Anodised ทั้ง 4 ล้อ ชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าออกเเบบใหม่ ชายล่างด้านข้าง และดิฟฟิวเซอร์หลังสีดำที่ตัววัสดุดูจะยังไม่ไฮเอนด์เท่าพวกพี่ๆ ในสายพันธุ์เดียวกัน รวมไปถึงไม่มีหลังคาพาโนรามิกซันรูฟ ขณะที่ไฟหน้าก็จะเหมือนกับตัว 4S ที่เป็นแบบ LED ติดตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

 

ยางหน้าขนาด 245/45 R20 และยางหลังขนาด 285/40 R20 

 

ขณะที่ภายในห้องโดยสาร แสดงออกถึงบรรยากาศของการเริ่มต้นเข้าสู่รถยุคใหม่ล้ำอนาคต ด้วยโครงสร้างและสถาปัตยกรรมใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางอุปกรณ์ แผงหน้าปัทม์ทรงโค้งมน ในตำแหน่งบนสุดของแผงคอนโซลหน้า คอนโซลกลางติดตั้งหน้าจอ Infotainment ขนาดใหญ่ถึง 10.9 นิ้ว โดยวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งภายในจะปราศจากหนัง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของปอร์เช่ ที่ชิ้นงานภายในประกอบด้วยนวัตกรรมวัสดุรีไซเคิล

 

มาตรวัดเรือนไมล์

 

ด้านเบาะนั่งคู่หน้าแบบ Comfort Seats ปรับระดับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง 2 ตำแหน่ง ส่วนพื้นที่บรรทุกสัมภาระสำหรับไทคานน์นั้นหายห่วง เพราะด้านหลังไม่มีเครื่องยนต์แล้ว สามารถใช้ขนของได้เต็มที่ อยากจะขนกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ หรือจะขับไปรับเพื่อนพ่วงถุงกอล์ฟซัก 2-3 ใบ ก็สบาย เพราะสามารถพับเบาะหลังให้ราบเรียบ อีกทั้งฝากกระโปรงด้านหน้าก็ยังเก็บของได้อีกโดยมีความจุ 84 ลิตร สำหรับของเล็กๆ ไม่ใหญ่มากนัก

 

เบาะนั่งคู่หน้าแบบ Comfort Seats ปรับระดับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศ

 

ปิดท้ายกันที่ความคิดเห็นส่วนตัว สำหรับราคาของ ปอร์เช่ ไทคานน์ รุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง ซึ่งตั้งเริ่มต้นไว้ที่ 6.19 ล้านบาท บอกตามตรงว่าถ้าเป็นคนง่ายๆ Easyๆ Normalๆ พูดได้เลยครับว่าเพียงพอ ขับหล่อ ใช้งานดี แถมควักกระเป๋าน้อยกว่า รุ่นพี่ๆ ในตระกูล ... คุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม ...