ขับรถออกจากบ้านไม่มีวันไหนที่ไม่เห็น BYD ATTO 3 ก็เค้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีจริงๆ ต้องยอมรับ และก็ถือว่า ATTO 3 เป็นรถนำร่องการทำตลาดในประเทศไทยให้ BYD ได้ประสบผลสำเร็จดีมากๆ แต่หากคุณรู้จักรถสัญชาติจีนยี่ห้อนี้ก็จะรู้ว่าเขาไม่ได้มีแค่ ATTO 3 ที่น่าสนใจ และที่สำคัญแต่ละรุ่นสวยๆ ทั้งนั้น มีครบทุกเซ็กเมนท์ แต่จะมีรุ่นไหนเข้ามาขายในประเทศไทยบ้างอันนี้ยังไม่รู้ รู้แค่ว่าผมเพิ่งไปขับมา 6 รุ่นในแทร็คเพื่อทดลองสมรรถนะที่ก่อนหน้านี้ได้ยินมาว่ารถยี่ห้อมันดีนักดีหนา

 

 

 

เป็นโอกาสที่ดีที่ทาง บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด จัด BYD ถึง 6 รุ่นมาให้ได้ทดลองกันในสนามแบบปิดเพื่อจะได้สัมผัสสมรรถนะอย่างแท้จริง โดย BYD ทั้ง 6 รุ่นประกอบไปด้วย SONG PLUS DMi , TANG EV , QIN PLUS DMi , SEAL EV , HAN EV และ Dolphin EV ซึ่งถ้าดูจากชื่อรุ่นรถแล้วไม่ได้มีแค่ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV เท่านั้น แต่มีบางคันที่เป็น Plug-in Hybrid (PHEV) ด้วย แสดงให้เห็นว่า หากคุณยังไม่ได้ชอบหรืออิน หรือยังไม่มั่นใจเรื่องสถานีชาร์จ BYD มีทางเลือกที่เป็น Plug-in Hybrid ให้คุณด้วย เอาแล้ว…

 

 

อย่างที่บอกว่างานนี้ผมได้ขับครบทั้ง 6 รุ่น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลามาสัมผัสสมรรถนะของแต่ละรุ่นไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ แต่บอกก่อนว่าครั้งนี้ผมจะเน้นไปที่ฟิลลิ่งการขับเป็นหลักนะครับ พวกรายละเอียดอุปกรณ์ฟังก์ชั่นต่างๆ ของตัวรถจะนำมาเจาะดีเทลทีละคันอีกครั้งเมื่อรถเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแล้ว

 

BYD SONG PLUS DMi

 

เริ่มจาก BYD SONG PLUS DMi (ออกเสียง “ซ่ง”) สำหรับรุ่นนี้ผมมองว่าถ้ามาขายในประเทศไทยน่าจะได้รับความนิยมมากด้วยขนาดของรถที่อยู่ในกลุ่ม C-SUV เป็นรถอเนกประสงค์ที่มีขนาดกำลังพอดี ตัวรถใหญ่กว่า ATTO 3 ขึ้นมาอีกหน่อย และที่สำคัญทาง BYD ยังบอกด้วยว่าเป็นรถที่ขายดีที่สุดในประเทศจีนเมื่อเทียบกับคู่แข่งในขนาดเดียวกัน รูปร่างหน้าตาของรถดูทันสมัย สวยแบบเรียบๆ ไม่โอเวอร์เกินไป

 

BYD SONG PLUS DMi

 

ภายในอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยครบครัน หน้าจอ Infotainment แบบสัมผัสขนาดใหญ่ 15.6 นิ้วติดตั้งกลางแดชบอร์ด ปรับให้เป็นได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ถือเป็นมาตรฐานของ BYD เกือบทุกคันที่ขับวันนี้ ซึ่งผมคงไม่ต้องพูดถึงในรุ่นอื่นๆ แล้วนะครับ เพราะมันเหมือนกัน ต่างกันแค่ฟังค์ชั่นภายในหน้าจอที่มากน้อยแล้วแต่รุ่นรถ ภายในสะดวกสบายเบาะปรับไฟฟ้าทั้งคู่หน้า สีสันลวดลายสวย

BYD SONG PLUS DMi เป็นรถที่ผมได้ขับเป็นคันแรกในงานนี้ สัมผัสแรกที่ได้เข้าไปนั่งก็เชื่อเลยว่ามันก็น่าจะขายดีตามที่เขาบอกจริงๆ เพราะรูปแบบและเนื้อที่มันเหมาะกับการใช้งาน ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป และที่แน่ๆ คือการเก็บเสียงภายในดีมาก ซึ่งผมบอกไว้ล่วงหน้าเลยว่าคุณภาพการประกอบ การใช้วัสดุ และประสิทธิภาพการเก็บเสียงภายในห้องโดยสารของ BYD ดีมากๆ ทุกรุ่น

 

 

 

สถานีการทดสอบเริ่มจากการทดลองอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง ต่อด้วยการขับในช่องทางบังคับที่มีลักษณะโค้งต่างๆ กัน ได้ทดลองทั้งการเร่ง เบรก การใช้พวงมาลัย และความคล่องตัวของรถ สำหรับอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งของ SONG ทำได้รวดเร็วทันใจแม้อยู่ในโหมด Normal ดึงยาวๆ ต่อเนื่อง แต่พอถึงรอบที่สองผมได้เปลี่ยนมาใช้โหมด Sport อาการของรถคล้ายๆ เดิม เพียงแต่แรงดึงมายาวและหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยทาง BYD เคลมไว้ว่า SONG มีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. อยู่ที่ 5.9 วินาที แค่นี้ผมก็ว่าเกินพอสำหรับรถลักษณะนี้แล้วครับ

 

 

โดยทั้งหมดที่พูดไปได้มาจากขุมพลังที่ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร 4 สูบ เทอร์โบ 136 แรงม้า แรงบิดสูงสุดที่ 231 นิวตันเมตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ Dual Motor ที่ตัวหน้าให้กำลัง 145 กิโลวัตต์ แรงบิด 316 นิวตันเมตร ตัวหลัง 120 กิโลวัตต์ แรงบิด 280 นิวตันเมตร พละกำลังเครื่องยนต์รวมกับมอเตอร์ไฟฟ้าคู่อยู่ที่ 218 แรงม้า โดยที่มอเตอร์ไฟฟ้าคู่รับกำลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ BYD Blade ขนาด 18.3 kWh มาถึงการขับในโค้ง ถ้าขับโดยใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละโค้งถือว่าเป็นรถที่ให้ประสิทธิภาพการเข้าโค้งที่ดีขับแล้วมั่นใจ แต่หากเติมความเร็วเข้าไป จะเริ่มรู้สึกว่าน้ำหนักถ่ายเทซ้าย-ขวาเยอะ รถเริ่มเหวี่ยงออกหนีศูนย์มากขึ้น ต้องยกคันเร่งเพื่อให้ยังสามารถควบคุมให้อยู่ในช่องทางได้ จะว่าระบบช่วงล่างนิ่มเกินไปก็ไม่ใช่หรอกครับ เพราะมันก็ไม่ใช่อาการย้วยจนคุมยาก เพียงแต่เราต้องรู้จักรถว่าในแต่สถานการณ์มันไปได้เร็วสุดขนาดไหน

แต่ถ้าพูดถึงการใช้งานทั่วไปผมว่าถ้าคุณได้ลองขับน่าจะชอบครับ แต่เหนือสิ่งอื่นได้ที่ผมเซอร์ไพร์สสุดๆ คือ การทำงานของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้ามันตัดต่อการทำงานได้เรียบเนียนและเงียบจริงๆ จนแทบไม่รู้ว่าเครื่องยนต์มันติดหรือดับเมื่อไหร่ อารมณ์การขับถ้าไม่สังเกตจริงๆ ก็แทบจะเหมือนกับกำลังขับรถยนต์ไฟฟ้า EV เลยครับ

 

BYD TANG EV

 

BYD TANG EV

 

คันที่ 2 เป็น BYD TANG EV (ออกเสียง “ถัง”) ตามข้อมูลมันเป็น SUV ที่ตั้งใจบุกตลาดยุโรปโดยเฉพาะ ทั้งขนาด ดีไซน์ และเทคโนโลยีจัดเต็ม TANG เป็นรถ SUV ไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อน 4 ล้อ ขนาด 7 ที่นั่ง ตัวรถค่อนข้างใหญ่ เน้นความโอ่อ่ากว้างขวาง ภายนอกเรียบหรู ความสูงจากพื้นถนนเยอะกว่ารุ่นอื่นๆ ไปได้ในทุกพื้นที่ ภายในห้องโดยสารกว้างขวางนั่งสบาย อุปกรณ์อำนวยความสะดวกของเล่นเพียบ ถือว่าเป็นประเภทของรถที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

 

 

ในช่วงของการทดสอบ แน่นอนว่าสิ่งที่ผมคาดหวังและน่าจะได้จากเจ้า TANG คันนี้คงไม่พ้นเรื่องอัตราเร่งที่จะได้จากมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ 2 ตัวที่ขับเคลื่อนล้อทั้งหน้า-หลัง แต่ก่อนขับสิ่งที่ยังไม่แน่ใจกับมันเท่าไหร่คือการเข้าโค้ง ด้วยตัวรถขนาดใหญ่และที่สำคัญหนัก 2 ตันกว่า เข้าโค้งแรงๆ น้ำหนักมันจะถ่ายเทจนทำให้รถควบคุมยากมั้ย เดี๋ยวรู้กัน เรื่องอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งไม่ผิดหวังครับ มอเตอร์ไฟฟ้าด้านหน้า 180 kW แรงบิด 350 นิวตัวเมตร ด้านหลัง 200 kW แรงบิด 350 นิวตันเมตร พละกำลังรวมทั้งหมดเป็น 380 kW (509 แรงม้า) แรงบิด 700 นิวตันเมตร มันช่วยฉุดกระชาก SUV คันใหญ่ๆ น้ำหนักมากคันนี้ให้พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้เร็วมาก พร้อมแรงดึงหนักๆ มันจะดึงไม่หนักยังไงไหวล่ะครับ ก็ตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. มันทำได้ 4.6 วินาที สำหรับผม ผมว่ามันเร็วมากสำหรับรถลักษณะนี้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าโหมด Sport มันแทบไม่ต่างอะไรกับรถสปอร์ตเลยทีเดียว

 

 

มาถึงเรื่องการเข้าโค้ง และแล้วมันก็สร้างเซอร์ไพร์สให้ผมเอามากๆ ถ้าผมบอกว่าเจ้าตัวหนักคันนี้มันเข้าโค้งดีกว่า SONG คันแรกที่ขับอีก คุณจะเชื่อผมหรือไม่? ผมยกเครดิตให้ระบบช่วงล่างไปเต็มๆ กับการซับแรงที่ยอดเยี่ยมโดยเฉพาะการโยนรถเข้าโค้งซ้าย-ขวา โคลงน้อยมาก ชุดโช้คอัพ-คอยล์สปริงมีประสิทธิภาพรองรับน้ำหนักที่ถ่ายเทมาได้อย่างสมบูรณ์ พวงมาลัยก็ควบคุมง่าย ทุกอย่างมันเฟิร์มไปหมด ทำให้รถคันใหญ่ๆ แบบนี้ถึงขับเกินลิมิตของมันไปบ้างแต่ก็มั่นใจมากเลยครับ

 

 

 

 

BYD QIN PLUS DMi

 

 

เสร็จจากรถอเนกประสงค์ 2 คัน มาต่อที่ซีดาน 4 ประตู 5 ที่นั่งกันบ้างครับ คันที่ 3 นี้เป็น BYD QIN PLUS DMi (ออกเสียง “ฉิน”) QIN เป็นรถซีดานขนาดกลางๆ ค่อนไปทางเล็ก ไซส์นิยมโดยเฉพาะในประเทศไทย รูปทรงดูทันสมัยดีไซน์แนวทางเดียวกับรถเก๋งร่วมค่าย โดยทาง BYD บอกว่ามีไอเดียคอนเซ็ปต์ให้เป็นมังกรโดยเฉพาะด้านหน้าที่ลูกตาเป็นไฟ Bi-LED รวมถึงกระจังหน้าทรงหกเหลี่ยมที่เปรียบเสมือนปากมังกร เอากับเขาสิ เปิดมาภายในห้องโดยสารตอนแรกนึกว่าจะเป็นแนวเรียบง่ายดีไซน์บ้านๆ ที่ไหนได้ มันมากับดีไซน์สปอร์ตเสียอย่างนั้น เบาะคู่หน้าทรงบัคเก็ตซีทมาเลย เบาะหลังก็ยังเป็นทรงสปอร์ตด้วยอีกต่างหาก เทคโนโลยีภายในก็ไม่ต้องบรรยายมาก ความทันสมัยที่คนรุ่นใหม่ต้องการมีครบไว้ผมจะเล่นให้ดูอีกครั้ง

 

 

ก่อนลงขับผมเดาว่า QIN น่าจะเป็นรถที่คล่องตัวด้วยขนาดของตัวรถที่เกือบจะกระทัดรัด การทรงตัวก็น่าจะดีเอาเรื่อง และน้ำหนักก็ไม่ได้มากเท่า 2 คันก่อนหน้านี้ QIN เป็นรถยนต์ PHEV พละกำลังได้มาจากเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร 4 สูบ 110 แรงม้า แรงบิดสงูสุด 135 นิวตันเมตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าตัวเดียวขนาด 194 แรงม้า แรงบิด 325 นิวตันเมตร ได้กำลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ BYD Blade ขนาด 18.32 kWh พละกำลังรวมเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่ที่ 170 แรงม้า ไม่น้อยเลยนะเนี่ยสำหรับรถไซส์นี้ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เคลมไว้ที่ 7.3 วินาที ซึ่งจากที่ได้ทดลองในแทร็ค อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งของ QIN ก็มาเร็วตามมาตรฐานของรถที่มีทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า แต่จะเป็นลักษณะดึงสั้นๆ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าก่อนแล้วค่อยดึงหนักๆในช่วงกลางๆ เมื่อเครื่องยนต์ติดขึ้นมาช่วย ซึ่งผมได้ข้อมูลมาว่าการขับทั่วไปมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานเป็นหลัก เครื่องยนต์จะติดขึ้นมาช่วยเมื่อความเร็วถึง 80 กม./ชม. หรือในช่วงที่กดคันเร่งลึกๆเพื่อเร่งแซง อาการคล้ายกันทั้งในโหมด Normal และ Sport เพียงแต่โหมด Sport การตอบสนองจากคันเร่งจะมาเร็วกว่าเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องการควบคุมรถในโค้งก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง และอาจดีกว่ารถขนาดเดียวกันบางรุ่นของค่ายอื่น แต่ถามว่าถึงขนาดหนุบหนับเกาะกริ๊บเลยมั้ย ก็ไม่ถึงขนาดนั้นครับ

 

 

 

 

BYD SEAL EV

 

BYD SEAL EV

 

ขยับจาก QIN เป็นซีดานอีกคันที่เพิ่มขนาดขึ้นมาเป็น BYD SEAL EV คันนี้ส่วนตัวผมคิดว่าถ้ามาขายในประเทศไทยเมื่อไหร่แล้วราคาโดนใจนะ รับรองเซลส์ยิ้มกว้างเลย ผมรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่ก่อนขับเสียอีก ทำไมน่ะเหรอครับ? เหตุผลง่ายๆ  SEAL เป็นรถเก๋งซีดานไฟฟ้าที่สวยด้วยสไตล์ซีดาน 4 ประตูคูเป้ ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ภายในทันสมัย ที่สำคัญใช้มอเตอร์ตัวเดียวติดตั้งด้านหลังซึ่งน่าจะให้อรรถรสการขับไม่น้อยเลยทีเดียว คราวนี้มาดูว่าจะเป็นอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ จริงๆ แล้ว SEAL ถูกแบ่งเป็นรุ่นย่อยถึง 4 รุ่น แต่คันที่ได้ขับครั้งนี้เป็นสเป็ค Long Range RWD ที่มีพละกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ 230 kW (308 แรงม้า) พร้อมแรงบิด 360 นิวตันเมตร ขนาดความจุแบตเตอรี่อยู่ที่ 82.5 kWh อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 5.9 วินาที และทาง BYD ยังบอกอีกว่า SEAL เป็นรถไฟฟ้าโมเดลแรกที่มาพร้อมเทคโนโลยี CTB (Cell-to-Body) ที่ช่วยให้แบตเตอรี่ BYD Blade ทำงานร่วมกับแพลทฟอร์มได้ดียิ่งขึ้นไปอีก แค่เข้าไปนั่งผมก็ชอบแล้วยังไม่ทันได้ขับ มันให้อารมณ์ของรถที่สปอร์ตทันสมัยแต่ไม่ล้นจนเกินไป ช่วงขับช้าๆ เข้าสถานีในแทร็ค รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นรถที่ขับใช้งานได้ดีมาก ๆคันหนึ่ง เริ่มจากความเงียบกริบในห้องโดยสาร ก็แน่นอนสิครับ มันคือรถไฟฟ้า การเก็บเสียงจากพื้นถนนดีเยี่ยม เข้าสู่การทดลองอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่ง ในโหมด Normal ต้องใช้คำว่า อัตราเร่งมาเร็วในแบบที่ควรจะเป็น ทำไมถึงพูดแบบนี้? หมายถึงอัตราเร่งมาเร็ว แต่ไม่ดึงหนักจนมากเกินไป ประเด็นนี้สำคัญเพราะในแง่ของรถใช้งานโดยเฉพาะคนที่ไม่เคยขับรถยนต์ไฟฟ้ามาก่อน ถ้าการตอบสนองของคันเร่งมาเร็วเกินไปรวมถึงความเร็วขึ้นเร็วเกินไป ในแง่ของรถใช้งานทั่วไปบนท้องถนน สำหรับคนที่ยังไม่ชินอาจเกิดอันตรายได้ ซึ่งผมว่าระบบ Traction Control มีบทบาทพอสมควร  แต่ถามว่ารถวิ่งเร็วมั้ย มันเร็วนะครับ โดยเฉพาะในโหมด Sport นี่ดึงต่อเนื่องยาวๆ เลย

 

 

ด้าน Handling หรือการควบคุมรถในเส้นทางคดเคี้ยวทำได้ประทับใจ ผมว่ามันเฟิร์มกว่า QIN พอสมควร โค้งเข้าได้เร็ว เติมคันเร่งได้อย่างมั่นใจแม้จะเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ถ้าไม่ได้ห้าวมากเกินไปไม่ต้องกลัวว่าท้ายจะปัด เพราะอย่างที่บอกครับ ระบบ Traction Control เข้ามาช่วยตลอดเวลาในรถที่แรงบิดสูงขนาดนี้ ถือว่าเป็นรถคันหนึ่งที่ขับในแทร็คสนุกดี แรงกำลังดี คล่องตัว กระฉับกระเฉง เอาอยู่ เบรกอยู่    

 

 

BYD HAN EV

 

BYD HAN EV

 

มาถึงคันที่ผมรู้สึก “ปิ๊ง” ตั้งแต่แรกเห็นคันจริง มันคือ BYD HAN EV (ออกเสียง “ฮั่น”) ทำไมถึงบอกว่าปิ๊งตอนเห็นคันจริง? ก็เพราะตอนที่เห็นในรูปผมรู้สึกเฉยๆ ก็เหมือนรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ทั่วไป แต่พอเจอคันจริงเจ้านี่สิ อุทานสั้นๆ เลยว่า “เฮ้ย โคตรสวยเลยว่ะ” คือรูปทรงภายนอกของรถสวยมาก โดยเฉพาะคันที่ทาง BYD เอามาให้ขับครั้งนี้ตัวรถภายนอกเป็นสีเขียวเข้ม แล้วเด็ดตรงที่คาลิปเปอร์เบรกเป็นสีเขียวสด เอาว่าถ้าไปจอดข้างๆ รถสปอร์ตค่ายยุโรปผมว่าสูสี ไม่หมดแค่นั้น เปิดเข้ามาภายในห้องโดยสาร เฮ้ย…นี่มันซูเปอร์คาร์ชัดๆ! คุณต้องเห็นแล้วจะอุทานเหมือนผม ดีไซน์ภายในถูกใจจริงๆ โดยเฉพาะเบาะนั่งคู่หน้าที่เป็นทรงสปอร์ตบัคเก็ตซีทอย่างแท้จริง และไม่ใช่แค่เบาะคู่หน้านะครับ เบาะนั่งด้านหลังก็ถูกแบ่งออกเป็นสองตำแหน่ง และเป็นทรงสปอร์ตกลมกลืนกับเบาะหน้า คือถ้าคุณกำลังนึกถึงรถสปอร์ตหรูของเยอรมันค่ายหนึ่งก็ไม่ผิดหรอกครับ แนวทางเดียวกันเลย วัสดุหุ้มเบาะก็เป็นหนังสลับวัสดุคล้าย Alcantara ผมยังไม่มีข้อมูลก็ไม่กล้าพูดเต็มปากว่ามันใช่มั้ย การตกแต่งภายในได้ใจไปหมด ทั้งดีไซน์ การเลือกใช้วัสดุ และโทนสีที่แมทช์กับสีภายนอกตัวรถ

 

ภายในห้องโดยสาร

 

แต่ขอติหน่อยเถอะ พวงมาลัยน่าจะดูสปอร์ตกว่านี้ ทรงนี้มันดูเรียบร้อยไป เด็ดเข้าไปอีกคือหน้าจอกลางแบบสัมผัสขนาดใหญ่ที่มีฟังก์ชั่นเพื่อรถสมรรถนะสูงโดยเฉพาะ เข้าไปที่ Vehicle setting มีให้เลือกเลยว่าจะเอาเป็น Comfort หรือ Sport สำหรับโหมดช่วงล่าง Active Suspension , ระบบควบคุมน้ำหนักพวงมาลัย Steering assist และ โหมดช่วยเหลือระบบเบรก Brake Assist ผมขับเจ้า HAN เข้าแทร็คด้วยความตื่นเต้นบวกความคาดหวังที่ค่อนข้างสูง สารภาพเลยว่าผมตั้งโจทย์ในใจไว้เป็นรถไฟฟ้าค่ายเยอรมันหนึ่งคัน และรถไฟฟ้ายอดนิยมจากฝั่งอเมริกาอีกหนึ่งคัน ว่าเจ้า HAN นี่มันจะสู้ได้มั้ย HAN เป็นรถไฟฟ้า EV ที่ใช้มอเตอร์ 2 ตัว Dual Motor ด้านหน้าขนาด 180 kW แรงบิด 350 นิวตันเมตร ด้านหลัง 200 kW แรงบิด 350 นิวตันเมตร พละกำลังรวม 509 แรงม้า แรงบิด 700 นิวตันเมตร (ตัวเลขเดียวกับ TANG เป๊ะๆ) ส่งกำลังไฟฟ้าไปที่มอเตอร์ด้วยแบตเตอรี่ BYD Blade ขนาดความจุ 85.4 kWh แถมเคลมว่าขับได้ไกลถึง 550 กม. ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง

 

 

รอบแรกของการขับผมปรับโหมดการขับให้อยู่ใน Normal เสมือนว่าใช้งานทั่วไปแต่อยู่ในลักษณะใช้คันเร่งเยอะหน่อย ดูความกระฉับกระเฉงทั่วๆ ไปก่อน อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งในโหมด Normal มันก็ดึงชนิดที่ว่าถ้าพี่ Instructor ที่นั่งข้างๆ ไม่สนิทหรือไม่รู้มือกันมาก่อนเขาคงให้ยกคันเร่งไปแล้ว มันดึงหนักๆยาวๆ ให้ความรู้สึกถึงแรงบิดมหาศาลที่ไม่มีทีท่าว่าจะหมด ซึ่งจากระยะทางที่ให้ทดลองอัตราเร่งในครั้งนี้ กำลังของเจ้า HAN มันยังออกมาไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ

 

 

การขับในเส้นทางบังคับเห็นรถคันกว้างๆ แบบนี้แต่มันคล่องตัวดีจริงๆ ยิ่งขับยิ่งสนุก นี่ขนาดอยู่ในโหมด Normal และปรับทุกอย่างเป็น Comfort นะ รอบสองขอพิสูจน์ความสามารถของเจ้า HAN ด้วยการเข้าโหมดการขับแบบ Sport และปรับทุกโหมดเป็น Sport ทั้งหมด เพราะรถเริ่มคุ้นมือแล้ว ไอ้จะหยิบนาฬิกามาจับเวลา 0-100 นี่ผมไม่ทำแน่ๆ มันไม่ใช่เรื่องและไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในขณะกำลังขับรถ อีกอย่างถ้าคุณตัวหนักสัก 100 กก. ขับรถคันเดียวกัน ใช้จังหวะและน้ำหนักคันเร่งเท่ากัน ยังไงคุณก็ช้ากว่าผม เพราะผมหนักแค่ 55 กก. ตรงนี้ต้องขอฝากไว้ด้วยครับ ตัวเลขโรงงานเขาแจ้งมาแล้วเชื่อเขาเถอะครับ

 

 

กลับมาที่อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งเมื่อทุกอย่างอยู่ในโหมด Sport ผมกดคันเร่งเร็วและสุดติดพื้นรถ ตัวรถดึงชนิดที่ว่าถ้าผมเอาของวางไว้บนแดชบอร์ดยังไงคนนั่งข้างๆก็เอื้อมไปหยิบไม่ได้ หลังติดเบาะแบบไม่มีทางยกตัวขึ้นได้แน่ๆ แล้วถ้าอ้างถึงตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ที่ทางโรงงานเคมไว้ที่ 3.9 วินาที นี่มันคือตัวเลขของรถสปอร์ตเครื่องยนต์ V8 ทวินเทอร์โบของค่ายดังที่ผมเคยขับอยู่ช่วงหนึ่งเลยนะครับ ห่างกันแค่ 0.3 วินาที เท่านั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่ายุคสมัยนี้เรื่องของอัตราเร่งรถไฟฟ้ามันเหนือกว่าเครื่องยนต์สันดาปไปมากแล้ว ซึ่งการปรับเข้าโหมด Sport ทุกระบบแบบนี้ มันไม่ได้ช่วยแค่อัตราเร่งเท่านั้น การขับเข้าโค้ง การขับซิกแซ็ก มันคล่องตัวกระฉับกระเฉงเหมือนกำลังขับรถคันเล็กๆ เลยไม่มีผิด

 

 

การกดคันเร่งออกโค้งคุณจะได้อารมณ์เหมือนกำลังขับรถเครื่องยนต์เทอร์โบแรงๆ ขับเคลื่อน 4 ล้อที่บูสต์มาไวๆ และต่อเนื่อง หน้าดึงหลังดัน เกาะหนึบเป็นตุ๊กแก แทบไม่ต่างจากกำลังขับซูเปอร์คาร์ อยากขับต่ออีกสัก 10 รอบ อย่างไรก็ตามด้วยความที่มันเป็นรถไฟฟ้า EV อรรถรสที่ขาดหายไปก็คือเสียงของเครื่องยนต์ มันไปเร็วแบบเงียบๆ แอบคิดเล่นๆ ว่าถ้ามีสวิตช์เสียงเครื่องยนต์สังเคราะห์ให้มาด้วยก็คงจะดี จะเป็นเสียง 4 สูบเทอร์โบ V6 เทอร์โบ หรือจะ V8 ก็ว่าไป ถึงจะเป็นเสียงปลอมก็พอรับได้ เพราะเรื่องเสียงนี่มันเพิ่มอรรถรสในการขับได้จริงๆ แล้วสมัยนี้พวกเสียงสังเคราะห์ก็ทำเหมือนมากๆ เสียด้วย

 

 

BYD Dolphin EV

 

BYD Dolphin EV

 

ปิดท้าย BYD คันที่ 6 ด้วยเจ้าตัวจิ๋วคันเล็กน่ารัก BYD Dolphin EV เอาจริงๆ คันก็ไม่ได้จิ๋วอะไรหรอกครับ เพียงแต่เป็นรถซิตี้คาร์แฮทช์แบคไซส์เล็กเน้นใช้งานในเมืองเป็นหลัก ภายนอกตัวรถผมว่าถูกใจสาวๆ แน่นอน จะสาวน้อยสาวใหญ่ก็ว่ากันไป หรือจะเอาไว้เป็นรถรับสาวก็ได้ ก็มันน่ารักใครๆก็ชอบ ส่วนภายในยิ่งน่ารักเข้าไปใหญ่ ทั้งการออกแบบจัดวางอุปกรณ์และสีสันที่แมทช์กับสีภายนอกตัวรถ รูปทรงเบาะนั่งแอบสปอร์ตหน่อยๆ มีทีเด็ดตรงมือจับเปิดประตูดูแล้วคล้ายครีบปลาโลมา ก็น่าจะใช่เพราะชื่อรุ่นก็บอกอยู่ว่าปลาโลมา หน้าจอ Infotainment ถึงจะขนาด 12.8 นิ้ว แต่ก็ดูใหญ่สำหรับเจ้า Dolphin คันนี้

 

 

และในรุ่นย่อยที่เป็นตัวท็อปได้หลังคากระจกแบบ Panoramic Roof ด้วย การขับเจ้า Dolphin เข้าไปทดสอบในแทร็คก็คงไม่ใช่ลักษณะเหนี่ยวเน้นหรือเค้นอะไรมาก ก็รถคันนี้เค้าเน้นใช้งานในเมืองไม่ได้จะเอาไปแข่งกับใคร ผมเลยขับแบบที่มันควรจะถูกใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป แม้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV ขนาดเล็กที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าตัวเดียวขับเคลื่อนล้อหน้าส่งกำลังไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ความจุ 44.9 kWh พละกำลัง 177 แรงม้า กับแรงบิด 290 นิวตันเมตร ถือว่าเหลือๆ ส่วนตัวเลข 0-100 กม./ชม. ที่ 7.9 วินาที ก็พอจะบอกได้ว่าขับใช้งานในเมืองคล่องตัวแน่นอน เร่งแซงหลบหลีกซิกแซ็กได้ทันใจ แบตเตอรี่ที่ใช้ก็เป็น BYD Blade ผมขับแล้วก็ชอบในแง่ของการที่ถ้าเป็นรถที่ซื้อเอาไว้ใช้งานจริงๆ ในเมือง จะขับไปทำงาน รับ-ส่งลูก ช็อปปิ้ง แล้วจะว่าไปมันก็วิ่งดี การออกตัวหรือเร่งแซงเชื่อใจได้ เข้าโค้งก็มั่นใจ รวมถึงพวงมาลัย และช่วงล่างก็แน่นดี ต่างจากรถเล็กหลายๆคันที่ผมเคยขับมาแล้วรู้สึกมันก๋องแก๋งไม่ค่อยมั่นใจ โหมดการขับของรุ่นอื่นส่วนใหญ่จะเป็น Normal , ECO และ Sport แต่ของ Dolphin จะมีแค่ ECO และ Sport เท่านั้น     

 

 

สรุปหลังขับทั้ง 6 คัน

ขับมา 6 คันถ้าจะบอกว่าชอบสุดๆ ทุกคันคุณก็จะหาว่าผมอวยและดูโอเวอร์เกินไป ผมเลยเลือกมา 3 คันที่ส่วนตัวผมชอบมากและอยากให้เอามาขายในประเทศไทยเร็วๆ นี้ คันแรกคือ BYD SONG PLUS DMi ทำไมผมถึงเลือกคันนี้เป็นคันแรก? อันดับแรกเลยก็คือ มันเป็นสไตล์รถที่กำลังฮิตสุดๆ ลักษณะคลอสโอเวอร์ใช้งานได้หลากหลาย ที่สำคัญเป็นรถ Plug-in Hybrid ที่มีเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่ต้องกังวลเรื่องสถานีชาร์จ ถ้าแบตเตอรี่หมดแล้วหมดหนทางชาร์จ ก็ยังมีเครื่องยนต์ทำงานต่อได้ทั้งส่งกำลังไปที่ล้อแล้วปั่นชาร์จไฟฟ้าเก็บเข้าแบตเตอรี่เพื่อให้สามารถทำงานได้ต่อ รวมถึงยังมีทีเด็ดตรงที่เป็น PHEV ที่ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวหน้า-หลัง ซึ่งในแง่ของสมรรถนะยังไงมันก็เหนือกว่ารถค่ายอื่นที่ใช้มอเตอร์ตัวเดียวอยู่แล้ว ผลพลอยได้ก็คือมันเลยเป็นรถในเซ็กเมนท์ SUV-C ที่ขับเคลื่อน 4 ล้อไปโดยปริยาย ส่วนพละกำลัง 218 แรงม้านี่เหลือเฟือครับ เรื่องราคาผมเดาว่าถ้าอยู่แถวๆ ล้านกลางๆ นี่สวยเลย เอาเป็นว่าผมให้ 1.5 – 1.8 ล้านบาท

 

 

คันต่อมาผมเลือก BYD SEAL EV ด้วยความที่ส่วนตัวเป็นคนชอบรถเก๋งซีดานสไตล์คูเป้ดูสปอร์ตหน่อย แล้วยุคนี้มันก็เป็นยุคของรถ EV ถ้าผมจะหารถ EV ไว้ใช้สักคันก็น่าจะเป็น SEAL นี่แหละครับ ขนาดของรถกำลังดีไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป รูปทรงสวยเก๋ เรื่องสมรรถนะหายห่วง 308 แรงม้าบนถนนนี่ผมไม่กลัวใครแล้ว ให้เป็นสปอร์ตหรูๆมาก็เถอะ ถึงจะใช้มอเตอร์ตัวเดียวขับเคลื่อนล้อหลัง แค่นี้ก็เกินใช้งานแล้วครับ เรื่องค่าตัวของ SEAL ถ้ามาระดับล้านกลางถึงล้านปลาย เหมือนที่ผมเดาไว้กับเจ้า SONG นี่กระเป๋าสตางค์ผมสั่นแน่นอน  

 

 

คันสุดท้ายที่ผมเลือก ต้องใช้คำว่าไม่เลือกไม่ได้ มันเหมือนรักแรกพบแล้วยังติดใจไม่หาย นั่นคือ BYD HAN EV ผมให้เป็นที่ 1 ของงานนี้เลย มันถูกใจผมไปหมดทุกอย่าง รูปร่างหน้าตา ภายใน สมรรถนะการขับ แต่อย่างที่บอกขอติอย่างเดียวคือรูปทรงพวงมาลัยไม่ผ่าน นอกนั้นยังหาที่ติไม่ได้ คือถ้าให้เปรียบกับหญิงสาวสักคนก็คือ เห็นในรูปเฉยๆ ก็โอเคแหละดูดี แต่พอเจอตัวจริงคือ มีสเน่ห์ถูกจริตเหลือเกิน เห็นตัวจริงครั้งแรกรักเลย ยิ่งพอได้คุยด้วยยิ่งชอบ

 

 

ที่สำคัญเป็นคนสวยที่สนุก อยู่ด้วยนานๆ ไม่เบื่อ พอจะเห็นภาพใช่มั้ยครับ รถสวย ภายในดีไซน์ซูเปอร์คาร์ พละกำลังแรง เกาะถนนสุดๆ คุณยังจะต้องการอะไรมากไปกว่านี้อีก และถ้าค่าตัวเป็นไปตามที่ผมเดาไว้ที่สักสามล้านต้นๆ ผมว่ารถ EV สัญชาติอเมริกันมีสะเทือน คำถามต่อมาคือ แล้ว 6 รุ่นที่ไปขับมาเนี่ย รุ่นไหนบ้างที่จะเข้ามาขายในประเทศไทย เพราะรถที่เอามาขับครั้งนี้ยังเป็นสเปคของประเทศจีน พวงมาลัยซ้ายทุกคัน ผมถามเจ้าหน้าที่ของ BYD มาให้แล้วครับ คำตอบของพี่สาวคนสวยคือ “ถ้าจะไม่เอามาขาย พี่ก็ไม่ให้มาขับหรอกจ้ะ…” เอาเป็นว่า มาทุกรุ่นครับ แต่รุ่นไหนจะมาก่อนมาหลัง ต้องรอชมครับ