เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งพูดถึงศึกระหว่างรถ PPV เวอร์ชั่นสปอร์ตของแต่ละค่ายไป มาวันนี้มีอะไรมาให้คุยกันอีกแล้วหลังจากที่ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota เปิดตัวซิตี้คาร์รุ่นล่าสุดออกมานั่นก็คือ All New Toyota Yaris Ativ ที่บอกเลยว่านอกจากโฆษณาที่ว่อนเต็มโซเชียลแล้ว หน้าของพรีเซนเตอร์ “แบมแบม” ก็ลอยเต็มฟีดในเฟสบุคไม่น้อยเหมือนกัน รวมไปถึงตัวรถที่ตอนนี้คนพูดถึงเยอะมากแน่นอนครับ อย่างแรกเลยมันคือรถรุ่นล่าสุดแบบ All New จากค่ายใหญ่ แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้คนสนใจเยอะผมว่าเป็นอุปกรณ์ออปชั่นที่ติดตัวรถมาแบบแน่นๆ แทบไม่มีกั๊กนี่แหละครับ รวมถึงเป็นการบ่งบอกว่าต่อไปนี้โมเดล Vios ก็ได้โบกมือลาพวกเราไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ
การเปิดตัวรถใหม่เข้าสู่ตลาด แน่นอนว่ามันต้องมีคู่แข่ง โดยคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งเลือกมาแต่เฉพาะที่เป็นบอดี้ซีดาน 4 ประตู ไม่รวมพวกบอดี้แฮทช์แบค 5 ประตู ซึ่งที่เด่นๆ ในเซ็กเมนท์เดียวกันผมเลือกมา 4 คันคือ MG5 ที่แม้จะไม่ใช่อีโค คาร์ แต่ราคาก็อยู่ในระดับเดียวกัน เรียกได้ว่ารุ่นท็อป ราคาเท่ากันเป๊ะ, Mazda2, Honda City และ Nissan Almera
Mazda2
ก่อนอื่นมาดูไฮไลท์เด็ดที่ All New Toyota Yaris Ativ มีมาให้ เรียกคะแนนกันก่อนเลย โดยผมคงไม่ลงรายละเอียดยิบย่อยว่ารุ่นไหนมีออปชั่นอะไรบ้างเพราะเดี๋ยวมันจะเยิ่นเย้อเกินไป ด้านรูปร่างหน้าตาของเจ้า Yaris Ativ รุ่นใหม่นี้มันช่างต่างจากรุ่นที่แล้วแบบคนละเรื่อง เหมือนคนที่เกิดคนละยุค หน้าตาคมเข้มมีกลิ่นอายของพี่ใหญ่อย่าง Camry และพี่กลางอย่าง Corolla Altis อยู่พอสมควร
มองด้านข้างยิ่งให้สเน่ห์ดึงดูดสายตาด้วยรูปทรงของรถที่ออกแนว Fastback (MG5 ก็เป็นตัวถังลักษณะนี้) คือจากแนวหลังคาด้านหลังมาถึงเสา C-Pillar เทลาดมาเกือบจรดท้ายรถ มันให้มุมมองที่ดูสปอร์ตมากขึ้นกว่ารุ่นเดิมเยอะมาก ยิ่งพอมาดูท้ายรถ ถามว่าสวยไหม ผมบอกเลยว่าสวยนะ แต่เอ๊ะ…มันก็คล้ายของคู่แข่งเลยโดยเฉพาะไฟท้าย แต่เอาเถอะครับ คิดเสียว่ามันเป็นเทรนด์ของตอนนี้ดีกว่า เพราะหลายๆ ครั้งไม่เว้นแต่รถยุโรปแบรนด์หรู เขาก็มักมีอะไรคล้ายๆ กันบ่อยอยู่เหมือนกันครับ
เรามาเริ่มที่เรื่องของขุมพลังกันก่อนดีกว่า โดยที่ผมจะเทียบกับคู่แข่งไปเลยพร้อมๆ กันนะครับ All New Toyota Yaris Ativ มีขุมพลังให้เลือกแบบเดียวคือ เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.2 ลิตร 4 สูบ 94 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 110 นิวตันเมตร ระบบส่งกำลังมีเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-I พร้อม Sequential Shift
เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.2 ลิตร 4 สูบ
ในขณะที่ MG5 ก็มีเครื่องยนต์แบบเดียวเช่นกันคือ เบนซิน 1.5 ลิตร 4 สูบ 114 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตร ใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT ล็อคโปรแกรมอัตราทดเกียร์ 8 จังหวะ
เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร 4 สูบ (MG5)
ส่วนทางค่าย Mazda มีตัวเลือกเครื่องยนต์สำหรับ Mazda2 มาให้ 2 ตัวเลือกคือ เบนซิน Skyactiv-G ขนาด 1.3 ลิตร 4 สูบ 93 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 123 นิวตันเมตร ส่วนอีกทางเลือกเป็นความแรงบวกความประหยัดกับเครื่องยนต์ดีเซล Skyactiv-D ขนาด 1.5 ลิตร 4 สูบ เทอร์โบ 105 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร โดยเครื่องยนต์ทั้งสองตัวของ Mazda2 ถูกส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดเหมือนกัน
เครื่องยนต์เบนซิน Skyactiv-G ขนาด 1.3 ลิตร 4 สูบ
สำหรับ Honda City ผมมองว่าการมากับขุมพลัง 2 ตัวเลือกนั้นมีความทันสมัยที่สุด เริ่มจากเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.0 ลิตร 3 สูบ VTEC และ Dual VTC เทอร์โบ ให้กำลังถึง 122 แรงม้า กับแรงบิดสูงสุดถึง 173 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ส่วนอีกทางเลือกเป็นรุ่นไฮบริดที่มากับเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร 4 สูบ 98 แรงม้า แรงบิด 127 นิวตันเมตร บวกมอเตอร์ไฟฟ้าอีก 2 ตัว 109 แรงม้า แรงบิด 253 นิวตันเมตร ซึ่งถ้าเทียบความแรงกันทั้งหมด 5 คันนี้ Honda City ชนะเลิศด้วย City e:HEV แบบไม่ต้องสงสัย และแม้ว่าจะเทียบกันระหว่างเครื่องยนต์เบนซินด้วยกันแบบไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วย Honda City ก็ยังชนะเลิศอยู่ด้วยแรงม้า และแรงบิดจากเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบอยู่ดี
Honda City
มาถึงขุมพลังของคันสุดท้ายในกลุ่มที่ผมเลือกมาอย่าง Nissan Almera ถือว่าไม่ธรรมดาจากการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ตัวใหม่ เบนซินขนาด 1.0 ลิตร 3 สูบ เทอร์โบ 100 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 152 นิวตัวเมตร ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ Xtronic CVT ก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ได้ทั้งความแรงและความประหยัดมากกว่าเดิม
เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.0 ลิตร 3 สูบ เทอร์โบ (Nissan Almera)
รูปลักษณ์ภายนอกของคู่แข่งในกลุ่มนี้สวยกันไปคนละแบบแล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล อุปกรณ์ภายนอกที่ให้มาใกล้เคียงกัน ซึ่งผมคงไม่เน้นความแตกต่างของภายนอกสักเท่าไหร่นะครับ อย่างไฟหน้าส่วนใหญ่ก็จะใช้ LED เป็นมาตรฐานทุกรุ่นทุกเกรดอยู่แล้ว มีเพียงแค่ Honda City และ Nissan Almera ที่รุ่นเริ่มต้นยังคงใช้เป็นหลอดฮาโลเจน
Nissan Almera
ด้านของล้อสำหรับ All New Toyota Yaris Ativ ได้เป็นอัลลอยขนาด 16 นิ้วทุกรุ่น ส่วน MG5 ใจถึงกว่าให้ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้วมาให้ทุกรุ่น ในขณะที่ Mazda2 จะได้ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้วในรุ่นท็อปที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเท่านั้น รุ่นเครื่องยนต์เบนซินได้ล้ออัลลอย ขนาด 15 นิ้ว เช่นเดียวกับ Honda City ที่ได้ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้วในรุ่น Turbo RS และ e:HEV RS เท่านั้น นอกนั้นได้ล้ออัลลอย และล้อกระทะเหล็กพร้อมฝาครอบขนาด 15 นิ้ว ปิดท้ายที่ Nissan Almera ในรุ่นเริ่มต้นมากับอุปกรณ์ตกแต่งเบสิคทั่วไป ล้อใช้เป็นกระทะเหล็กขนาด 15 นิ้ว แต่ถ้าขยับขึ้นมาอีกรุ่นก็จะได้ล้ออัลลอย 15 นิ้ว ส่วนไฟหน้า LED พร้อม LED Signature Light ที่ฮ็อตฮิตในรถกุล่มนี้จะอยู่ในรุ่นที่เหนือขึ้นไปอีกรุ่น
ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว
ต่อกันที่ออปชั่นและฟังก์ชั่นภายในห้องโดยสาร โดยจะดูสิ่งที่เป็นไฮไลท์จริงๆ ของรถแต่ละคัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเทคโนโลยีต่างๆ ภายในห้องโดยสาร ซึ่งหากพูดกันถึงเรื่องนี้บอกเลยว่าคู่แข่งทั้ง 5 คันนี้มีรูปแบบการตกแต่งไปกันคนละทิศคนละทางเลย ทั้งเรื่องของดีไซน์ และโทนสี เริ่มจาก All New Toyota Yaris Ativ ภายในตกแต่งเรียบๆ แต่เน้นความหรู มีการเพิ่มวัสดุบุนุ่มในหลายๆ ส่วนโดยเฉพาะที่แดชบอร์ด
ภายในห้องโดยสาร
รุ่นเริ่มต้นยังคงใช้เบาะผ้า และขยับขึ้นมาเป็นเบาะหนังสังเคราะห์ในรุ่นที่สูงขึ้น แต่มาโดดเด่นเอามากๆ ในรุ่น Premium Luxury CVT เป็นรุ่นท็อปสุดใช้เบาะหนังแท้และหนังสังเคราะห์สีแดง เดินด้ายแดงเป็นลาย Diamond Cut หน้าจอเครื่องเสียงมีขนาด 8 นิ้ว และ 9 นิ้วแล้วแต่รุ่นย่อย ได้ Ambient Light 64 สีตั้งแต่รุ่นรองท็อป ที่เหลือก็เป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถในเซ็กเมนท์นี้
เบาะหนังแท้และหนังสังเคราะห์สีแดง เดินด้ายแดงเป็นลาย Diamond Cut
มาถึง MG5 ขึ้นชื่อว่า MG แน่นอนว่าของท่วม ทีเด็ดเริ่มตั้งแต่หลังคา Sunroof เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้าในตัวท็อป ระบบปรับอากาศแบบดิจิทัลควบคุมผ่านหน้าจอกลางแบบสัมผัสขนาด 10 นิ้ว ระบบกุญแจ Digital Key สั่งปิด-เปิดรถ สตาร์ทเครื่อง เปิดระบบปรับอากาศ ระบบตรวจสอบสถานะรถยนต์ โดยทั้งหมดที่กล่าวมาทำผ่านแอพพลิเคชั่น i-SMART ในสมาร์ทโฟน รวมถึงมีระบบสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทย
ภายในห้องโดยสาร (MG5)
ทางฝั่ง Mazda2 ฟังก์ชั่นอาจไม่ได้มากเหมือนคันอื่น จะมีก็แค่ระบบบันทึกความจำตำแหน่งเบาะนั่งคนขับ 2 ตำแหน่ง มี Wireless Charger เพิ่มมาในรุ่นปี MY2022
ภายในห้องโดยสาร (Mazda2)
มาถึง Honda City ภายในห้องโดยสารดูค่อนข้างเรียบง่ายแต่ฟังก์ชั่นก็จัดว่าครบ ไฮไลท์เด่นๆ ส่วนใหญ่ไปอยู่ในรุ่นท็อป Turbo RS และ e:HEV RS อย่างเช่น Paddle Shift เปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย ส่วนรุ่นไฮบริดใช้เป็นระบบช่วยชะลอความเร็วแทนที่ Paddle Shift มีระบบรองรับการสั่งงานด้วยเสียง SIRI ระบบ Honda CONNECT สั่งการล็อค-ปลดล็อคประตู สตาร์ทเครื่องยนต์ เปิดไฟหน้า แสดงพิกัดรถ
ภายในห้องโดยสาร (Honda City)
ส่วน Nissan Almera เน้นภายในห้องโดยสารกว้างขวาง หน้าจอแสดงผลการขับขี่สวยทันสมัย ไฮไลท์เด็ดมีตั้งแต่รุ่น V ซึ่งเป็นตัวรองท็อป ได้มาตรวัด Fine Vision Meter แบบดิจิทัลผ่านหน้าจอ TFT 7 นิ้ว เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ หน้าจอเครื่องเสียงขนาด 8 นิ้วระบบสัมผัส
ภายในห้องโดยสาร (Nissan Almera)
มาถึงเรื่องที่ถือเป็นจุดขายสำคัญของรถในกลุ่มนี้นั่นก็คือ ระบบและฟังก์ชั่นความปลอดภัยที่ขนกันมาเต็มคัน เรียกเสียงว้าวกันได้ถี่ๆ All New Toyota Yaris Ativ ให้ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง กับระบบ HAC ช่วยออกตัวบนทางลาดชันมาตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น สูงขึ้นมาหนึ่งรุ่นได้กล้องมองภาพด้านหลัง กล้องบันทึกภาพหน้ารถ ระบบความปลอดภัยก่อนการชน Pre-Collision System ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมหน่วงพวงมาลัย ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนตัว Front Departure Alert และระบบป้องกันการเหยียบคันเร่งแบบผิดวิธี และหากเพิ่มเงินอัพเกรดไปเอารุ่น 1.2 Premium CVT ก็จะได้เบรกมือไฟฟ้าพร้อม Auto Brake Hold กล้องมองภาพรอบคัน ระบบเตือนขณะถอยรถ ระบบเตือนมุมอับสายตาด้านข้าง และระบบไฟสูงอัตโนมัติ ซึ่งสำหรับรถที่ค่าตัวราวๆ 6 แสนกลางแล้วได้ระบบความปลอดภัยขนาดนี้ ผมว่าสิ่งนี้แหละที่สร้างความว้าวให้ลูกค้าได้ไม่น้อยรองจากรูปร่างหน้าตาของมัน
ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง
แต่ถ้าพูดกันถึง “ของ” โดยเฉพาะระบบความปลอดภัยต่างๆ MG เขาก็ไม่น้อยหน้าใคร ซึ่งใน MG5 บอกได้เลยว่ามีทุกอย่างที่คุณอยากได้ ไฮไลท์เด่นๆ มีหลายอย่าง เบรกมือไฟฟ้าพร้อม Auto Brake Hold ระบบควบคุมการเบรกในขณะเข้าโค้ง ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ระบบช่วยเตือนขณะเปลี่ยนเลน ระบบเตือนมุมอับสายตา ระบบช่วยเตือนการชนด้านหลัง Cruise Control กล้องมองภาพรอบคัน ถุงลมนิรภัยมีมาให้ 6 ตำแหน่ง
ส่วนของ Mazda2 อาจไม่ได้มีอะไรเว่อวังอลังการเหมือน 2 คันแรก เป็นไปได้ว่าถ้านับช่วงเวลา Mazda2 โมเดลนี้ออกมาก่อนหน้าคันอื่นๆ นานพอสมควร ที่ผ่านมาก็มีแค่การปรับปรุงหน้าตากับเพิ่มอุปกรณ์ขึ้นเล็กน้อย ระบบความปลอดภัยยังไงก็ไม่เท่าน้องๆ ที่มาใหม่จากค่ายอื่น สิ่งที่นอกเหนือจากระบบพื้นฐานทั่วไปก็มีให้อย่างระบบควบคุมแรงบิดขณะเข้าโค้ง ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ระบบเตือนมุมอับสายตา ระบบเตือนเมื่อมีรถตัวผ่านขณะถอยหลัง กล้องมองภาพรอบคัน ถุงลมนิรภัยมีให้แค่ 2 ตำแหน่ง แต่ก็ยังมี Cruise Control
ส่วน Honda City อันนี้ผมบอกตรงๆ ว่า Honda ค่อนข้างให้มาน้อย เพราะถ้าคุณต้องการแพ็คเกจระบบความปลอดภัยที่เป็นตัวชูโรงอย่าง Honda SENSING ที่ประกอบไปด้วย ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกเลน ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ ระบบเตือนก่อนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันพร้อมปรับความเร็วตามคันหน้า ที่ว่ามาทั้งหมดมันมีอยู่แค่ใน City e:HEV เท่านั้น นั่นหมายความว่า Honda City ในรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบทุกรุ่นแม้กระทั่งในตัวท็อปอย่าง RS คุณก็จะไม่ได้ Honda SENSING นะครับ ซึ่งค่าตัวของ City e:HEV มันก็กระโดดห่างจากคู่แข่งคันอื่นไปไกลพอสมควร
Honda SENSING
คันสุดท้าย Nissan Almera ก็จัดว่าได้ระบบความปลอดภัยมาเป็นจุดขายของรถเลยทีเดียว คุณจะได้ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชันมาตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น เติมเงินอีกหน่อยขยับขึ้นอีกรุ่นจะได้ระบบเตือนก่อนการชน และระบบช่วยเบรกฉุกเฉินเพิ่มเข้ามา แล้วถ้ากระโดดเล่นตัวท็อปสุดรุ่น VL สิ่งที่จะได้เพิ่มเติมเข้าไปอีกคือ ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง กล้องมองภาพรอบคัน ระบบตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนวัตถุหรือบุคลลเคลื่อนไหว ระบบเตือนจุดอับสายตา และระบบเตือนขณะถอยรถ
มาถึงเรื่องค่าตัวของแต่ละคัน All New Yaris Ativ ราคาเริ่มต้นที่ 539,000 บาท ไปจนถึงรุ่นท็อป Premium Luxury CVT อยู่ที่ 689,000 บาท ส่วน MG5 เริ่มต้นที่ 559,000 บาท ไปจบที่ตัวท็อปที่มี Sunroof ด้วยในราคา 689,000 บาท (ราคาตัวท็อปของ Yaris Ativ และ MG5 คุณว่าบังเอิญเท่ากันหรือตั้งใจ?)
ทางด้าน Mazda2 ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร ราคาอยู่ที่ 546,000 – 690,000 บาท ในขณะที่รุ่นเครื่องยนต์ดีเซลกระโดดขึ้นไปถึง 799,000 บาท ส่วน Honda City ที่ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.0 ลิตร เทอร์โบ มีค่าตัวอยู่ที่ 579,500 – 665,000 บาท โดยในรุ่น RS ขยับขึ้นไปถึง 739,000 บาท ส่วนในรุ่น e:HEV RS ขึ้นไปอยู่ที่ 839,000 บาท ปิดท้ายด้วย Nissan Almera ที่ล่าสุดเพิ่งปรับราคาไปหมาดๆ รุ่นเริ่มต้นสตาร์ทที่ 515,000 บาท จบที่ตัวท็อป VL CVT ที่ 655,000 บาท และถ้าชอบแนวสปอร์ตพร้อมชุดแต่งเพิ่มเติมก็มีรุ่น VL SPORTECH CVT อยู่ที่ราคา 675,000 บาท แต่มีจำนวนจำกัดเพียง 300 คันเท่านั้น
หากเรามองกันที่รุ่นที่มาพร้อมอุปกรณ์ครบๆ โดยไม่โฟกัสถึงรุ่นตกแต่งพิเศษอย่าง All New Yaris Ativ Premium Luxury , City Turbo RS หรือ Almera VL SPORTECH และไม่นับรวมทางเลือกเครื่องยนต์อื่นอย่าง Mazda2 ดีเซล และ City e:HEV โดยไม่รับรวมรุ่นเริ่มต้น จะเห็นว่าราคาของรถทั้ง 5 ยี่ห้อในกลุ่มเดียวกันนี้ มันป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้เคียงกันที่ 6 แสนกลางไปถึง 6 แสนปลายซึ่งห่างกันอยู่แค่ไม่กี่หมื่นบาท เรื่องรูปร่างหน้าตาหรือยี่ห้อก็แล้วแต่ใครจะชอบคันไหน เป็นแฟนเหนียวแน่นยี่ห้อไหนก็ว่าไป
แต่ถ้าดูในเรื่องของอุปกรณ์ ระบบ และออปชั่นต่างๆ มันก็มีความต่างกันอยู่พอสมควร สรุปคร่าวๆ อย่างนี้ว่า ณ ตอนนี้ Toyota ได้อัพเกรด All New Yaris Ativ ขึ้นมาจากรุ่นเดิมมากทีเดียวโดยเฉพาะออปชั่นที่ใส่มาเต็มตั้งแต่รุ่นล่างๆ ดูเป็นรถที่คุ้มค่ากับราคามากขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ แต่ในขณะเดียวกัน ทางเลือกของเครื่องยนต์ในขณะนี้ยังคงมีแบบเดียว ต่างจาก Honda ที่ตอนนี้มีเทคโนโลยีไฮบริดมาใช้กับรถเซ็กเมนท์นี้แล้ว
มาตรวัดเรือนไมล์
หรืออย่าง Mazda ที่เอาเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบมาเป็นตัวชูโรงเรื่องความแรงและความประหยัด แต่มลพิษก็เยอะกว่าเจ้าอื่น ซึ่งทั้งหมดทั้งอย่าคิดว่า Toyota จะหยุดอยู่แค่นี้ คุณต้องไม่ลืมว่า Toyota คือเจ้าพ่อไฮบริด เพราะฉะนั้นเราจะได้เห็น Yaris Ativ Hybrid ในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วน MG5 จัดว่าเป็นรถที่อัดออปชั่นมาเต็ม เหมือนไปทำสำรวจมาว่าลูกค้าอยากได้อะไรเขาก็จัดใส่มาให้ตามอยาก แต่ที่ดูแล้วยังด้อยกว่าคู่แข่งจากฝั่งญี่ปุ่นในแง่ของระบบเครื่องยนต์ที่ยังใช้ความจุมากกว่าคันอื่นดังนั้นอาจเสียเปรียบในเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลงที่เป็นเรื่องอันดับต้นๆ ในการตัดสินใจซื้อรถใหม่ของคนสมัยนี้ ซึ่ง MG เองก็มีรถยนต์ไฮบริดออกมาขายหลายรุ่นแล้ว PHEV ก็มี ก็ต้องดูว่าในอนาคตจะมีการนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาใส่ใน MG5 หรือไม่ ถ้ามาจริงผมว่ามันจะเป็นอะไรที่เจ๋งมาก แต่ถ้าไม่มา ก็เป็นการบ้านของ MG ว่าจะรองรับเกมส์ที่ทางค่ายญี่ปุ่นเล่นอย่างไร
ส่วน Mazda2 ผมว่ามีการบ้านมารอพักหนึ่งแล้ว เพราะออปชั่นต่างๆ ตอนนี้เป็นรองคู่แข่งอยู่มากพอสมควรโดยเฉพาะถ้าเทียบกับ MG5 และ All New Yaris Ativ จริงอยู่ที่ Mazda2 มีตัวเลือกเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบเข้ามา แต่ที่ผ่านมาชื่อเสียงของเครื่องยนต์ดีเซลของ Mazda ก็โดนตำหนิอยู่พอสมควร และราคาของรุ่นดีเซลก็เพิ่มจากรุ่นเบนซินไปอีกหนึ่งแสน ซึ่งถือว่าไม่น้อยสำหรับรถในระดับราคาเท่านี้
Honda City แน่นอนว่าเป็นขวัญใจวัยรุ่นด้วยเครื่องยนต์ที่แรงกว่าชาวบ้านเขาหมด รวมถึงความที่เป็น Honda ที่เป็นแบรนด์มหาชนไม่แพ้ Toyota ดังนั้นเรื่องออปชั่นของเล่นจุกจิกแม้จะน้อยกว่าคันอื่น ก็อาจเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไปได้ไม่ยาก ส่วนใครทุนถึงอยากได้ของแรงและประหยัดมากขึ้นก็ขึ้นไปเล่นตัว e:HEV ได้อีก ก็ถือว่า Honda วางแผนมาดีพอสมควรเลยครับ
Honda City e:HEV RS
ส่วนคันสุดท้าย Nissan Almera ก็นับว่ามาพร้อมกับเทคโนโลยีเครื่องยนต์ใหม่ และระบบความปลอดภัยที่จัดมาเต็ม และหาก Nissan นึกสนุกและใจถึง เอาระบบ e-Power มาใส่กับ Almera เข้าสักวัน ผมว่าค่ายอื่นนั่งไม่ติดเก้าอี้เลยทีเดียวครับ
งานนี้บอกได้เลยค่ายรถต้องเจอกับความท้าทายอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอ่านเกมส์ของแต่ละค่ายว่าจะจับทิศทางตลาดได้ดีกว่ากันแต่ไหน เราในฐานะลูกค้าก็สนุกกันไปสิครับ จะมีปัญหาก็ตรงที่เลือกไม่ถูกนี่แหละครับ ... ว่าไหม!!